January 15, 2020
Motortrivia Team (10170 articles)

นักแข่ง F1 2019 กับโพเดียมครั้งแรกของพวกเขา

Posted by : FascinatorFJ

●   โพเดียมใน F1 นั้นเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็อยากได้ แต่มีนักแข่งเพียง 15 คน เท่านั้นในปี 2019 ที่เคยได้ขึ้นโพเดียม บ้างก็ใช้เวลาไม่นาน บ้างก็ต้องอดทนเฝ้ารอมาหลายปี เราลองมาย้อนดูกับโพเดียมครั้งแรกของแต่ละคน ที่บางคนนั้นก็ขึ้นโพเดียมได้เลยตั้งแต่ลงแข่งสนามแรก และคนล่าสุดที่ต้องรอมาถึง 101 เรซ

คาร์ลอส ซายน์ซ : 101 เรซ (บราซิเลียนกรังด์ปรีซ์ 2019, อันดับ 3)

●   ถึงแม้ว่า คาร์ลอส ซายน์ซ จะไม่ได้ขึ้นฉลองบนโพเดียมหลังจบการแข่งขันบราซิเลียนกรังด์ปรีซ์ 2019 แต่นักแข่งสแปนิชก็ถือว่าได้โพเดียม จากการที่ ลูวอิส แฮมิลตัน ถูกปรับโทษบวกเวลา ทำให้ซายน์ซนั้นขยับขึ้นมาอันดับ 3 แทน

●   เรียกได้ว่าเป็นรายการที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เลยที่นักแข่งสแปนิชจะได้ขึ้นโพเดียม เขาสตาร์ทจากกริดที่ 20 เนื่องด้วยปัญหาเครื่องยนต์ในระหว่างการควอลิฟาย เขาไล่แซงขึ้นมาเรื่อยๆ และได้โอกาสในตอนที่เซฟตี้คาร์ออกมา 2 ครั้ง ครั้งแรกจากการที่ วาลท์เทรี บ็อตตาส รีไทร์ อีกครั้งจากการที่ 2 นักขับเฟอร์รารี ชนกันเอง ซายน์ซนั้นทำทุกอย่างได้ถูกต้องและผ่านเส้นชัยในอันดับ 4 ก่อนที่สจ๊วตจะยื่นโทษให้แฮมิลตันซึ่งส่งผลให้ซายน์ซขึ้นมารับอันดับ 3 แทน นอกจากนั้นนี่ยังเป็นโพเดียมที่ต้องรอมานานกว่า 2,000 วัน ของแม็คลาเรน ซึ่งทีมแข่งฐานโวกกิ้งได้ขึ้นโพเดียมครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2014 รายการออสเตรเลียนกรังด์ปรีซ์

แดเนียล ริคคิอาร์โด : 55 เรซ (สแปนิชกรังด์ปรีซ์ 2014, อันดับ 3)

●   เข้าสู่วงการกับ HRT ในปี 2011 แดเนียล ริคคิอาร์โด ได้รับการโปรโมตขึ้นสู่เรดบูลล์ ทีมแข่งชั้นนำ ในปี 2014 และเรียกได้ว่าเป็นการเปิดตัวที่ร้อนแรงทีเดียวของนักแข่งออสซี เขาเกือบจะแย่งตำแหน่งโพลจาก ลูวอิส แฮมิลตัน มาได้ตั้งแต่สนามแรกในบ้านเกิดของเขา และในวันแข่งเขาก็ขึ้นโพเดียมในอันดับ 2 ได้เสียด้วย

●   แต่แล้วเขาก็ถูกริบผลการแข่งขันจากการที่กรรมการตรวจสอบและพบว่ารถของเขามีอัตราการไหลของเชื้อเพลิงเกินกติกากำหนด นั่นทำให้โพเดียมแรกของเขาต้องดีเลย์ออกมาจนถึงสนามที่ 5 ที่บาร์เซโลน่า ในคราวนี้เขาเข้าเส้นชัยในอันดับ 3 และได้ขึ้นโพเดียมอย่างสมภาคภูมิ

ปิแอร์ แกสลีย์ : 46 เรซ (บราซิเลียนกรังด์ปรีซ์ 2019, อันดับ 2)

●   ก่อนหน้าที่เขาจะคว้าโพเดียมนี้ได้ ไม่มีใครคาดคิดว่า ปิแอร์ แกสลีย์ จะสามารถขึ้นโพเดียมได้อีกในปี 2019 หลังจากที่นักแข่งเฟรนช์ถูกปลดจากเรดบูลล์ลงไปขับโทโรรอสโซแทน

●   อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าเขาจะถนัดมือกับรถโทโรรอสโซมากกว่าเรดบูลล์ ผลงานของเขาดีวันดีคืน และเมื่อมาถึงบราซิเลียนกรังด์ปรีซ์ เขาได้สตาร์ทในกริดที่ดีมากๆ ในกริดที่ 6 หลังจากนั้นเขาก็หลบเลี่ยงเหตุวุ่นวายบนแทร็คทั้งหลาย รวมถึงเหตุปะทะระหว่าง ลูวอิส แฮมิลตัน และ อเล็กซานเดอร์ อัลบอน ท้ายที่สุดเขายังสามารถแข่งแดรกเรซกับแฮมิลตันก่อนเข้าเส้นชัยและเฉือนเข้าไปได้ก่อนเพียงปลายจมูกอีกด้วย

ดานีล คฟยาต : 28 เรซ (ฮังกาเรียนกรังด์ปรีซ์ 2015, อันดับ 2)

●   สตาร์ทจากกริดที่ 7 ดานีล คฟยาต นักแข่งสังกัดเรดบูลล์ เสียอันดับไปเล็กน้อยในตอนสตาร์ทให้กับ นิโค ฮูลเคนเบิร์ก และ แดเนียล ริคคิอาร์โด เพื่อนร่วมทีม อย่างไรก็ตามพอถึงช่วงกลางการแข่งขันได้มีเซฟตี้คาร์ออกมา นักแข่งรัสเซียนอาศัยจังหวะนี้ทำอันดับกลับมาได้ และช่วงรีสตาร์ท ลูวอิส แฮมิลตัน และริคคิอาร์โดก็ได้มีการปะทะกันเล็กน้อย นั่นทำให้คฟยาตขยับขึ้นไปอีกในอันดับ 5 จากนั้นเขาขยับขึ้นไปได้อีก 1 อันดับ เนื่องจาก คิมี ไรค์โคเนน รีไทร์

●   ในช่วงท้ายการแข่งขันริคคิอาร์โดก็ได้เกิดการปะทะกับนักแข่งเมอร์เซเดสอีกครั้ง คราวนี้เป็น นิโค รอสเบิร์ก ซึ่งนั่นทำให้คฟยาตขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 และถึงแม้ว่านักแข่งรัสเซียนจะมีโทษบวกเวลา 10 วินาที ติดตัวมา เขาก็ยังผ่านเส้นชัยและเก็บอันดับ 2 เอาไว้ได้

วาลท์เทรี บ็อตตาส : 27 เรซ (ออสเตรียนกรังด์ปรีซ์ 2014, อันดับ 3)

●   วาลท์เทรี บ็อตตาส นั้นได้แสดงฝีมือเป็นครั้งเป็นคราวให้เราได้เห็นนับตั้งแต่เดบิวต์ในปี 2013 แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่านั่นเป็นฝีมือของเขาจริงๆ หรือไม่ โอกาสในการแสดงฝีมือของนักแข่งฟินน์มาถึงในปี 2014 เมื่อ F1 เข้าสู่ยุคไฮบริด และวิลเลียมส์ได้ใช้เครื่องยนต์เมอร์เซเดสซึ่งเป็นเครื่องยนต์ชั้นนำชนิดทิ้งห่างคู่แข่งในเวลานั้น

●   ออสเตรียนกรังด์ปรีซ์ 2014 ถูกนำกลับมาจัดการแข่งขันอีกครั้งในรอบ 11 ปี และการกลับมาคราวนี้ก็ได้สร้างความประหลาดใจให้กับแฟนๆ เมื่อมันเป็นรายการแรกที่รถซึ่งไม่ใช่จากทีมแข่งเมอร์เซเดสสามารถคว้าตำแหน่งโพลไปได้ โดย เฟลิเป้ มาสซ่า คว้าโพล และบ็อตตาส เพื่อนร่วมทีม สตาร์ทคู่ในแถวหน้า

●   ถึงแม้ว่ามาสซ่าจะออกสตาร์ทขึ้นนำไปได้และตามมาด้วยเพื่อนร่วมทีมของเขา แต่ยางหลังของนักแข่งบราซิเลียนนั้นหมดอย่างรวดเร็ว นั่นทำให้มาสซ่าต้องเข้าพิทไป และเป็นช่วงนี้ที่บ็อตตาสชิงขึ้นมาอยู่ข้างหน้ามาสซ่าและตามหลัง นิโค รอสเบิร์ก หลังจากนั้นนักแข่งฟินน์ก็ถูก ลูวอิส แฮมิลตัน อันเดอร์คัทอีกครั้ง แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้บ็อตตาสได้ขึ้นโพเดียมในอันดับ 3

แม็กซ์ เวอร์สแท็พเพ่น : 24 เรซ (สแปนิชกรังด์ปรีซ์ 2016, อันดับ 1)

●   สแปนิชกรังด์ปรีซ์ 2016 ดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งรายการที่เมอร์เซเดสจะยังคงครองอันดับ 1-2 เอาไว้ได้ แต่แล้วสถานการ์กลับพลิกผันเมื่อพวกเขาชนกันเองตั้งแต่โค้งที่ 4 ในรอบแรก และนั่นทำให้โอกาสได้ถูกแย่งชิงกันระหว่างเรดบูลล์และเฟอร์รารี

●   แม็กซ์ เวอร์สแท็พเพ่น นั้นพึ่งถูกดันขึ้นเรดบูลล์ในสนามนี้เป็นครั้งแรก จากเหตุการณ์ที่ ดานีล คฟยาต ไปสอยท้าย เซบาสเตียน เวทเทล ในสนามก่อนหน้านี้จนถูกเรดบูลล์ลดชั้นให้ลงไปขับโทโรรอสโซแทน นักแข่งดัตช์ก็ได้โอกาสขึ้นนำหลังจากที่เวทเทลและ แดเนียล ริคคิอาร์โด เพื่อนร่วมทีม ตัดสินใจเข้าพิทครั้งที่ 3 และเขาก็ไม่ทำให้โอกาสที่ถูกโยนมานี้เสียหาย เวอร์สแท็พเพ่นขับป้องกันตำแหน่งและรับความกดดันจาก คิมี ไรค์โคเนน ได้เป็นอย่างดี ทำให้นักแข่งดัตช์เข้าเส้นชัยไปเป็นคันแรก และกลายเป็นนักแข่งที่อายุน้อยที่สุดที่ชนะการแข่งขัน F1 ด้วยวัยเพียง 18 ปี 228 วัน

ชาร์ล เลอแคลร์ : 23 เรซ (บาห์เรนกรังด์ปรีซ์ 2019, อันดับ 3)

●   การแข่งขันสนามแรกในปี 2019 ของเฟอร์รารีนั้นน่าผิดหวังเป็นอย่างมาก กับการที่พวกเขาทำผลงานได้ดีมาโดยตลอดในการทดสอบ ชาร์ล เลอแคลร์ นั้นจบการแข่งขันในอันดับ 5 แต่เมื่อมาถึงที่บาห์เรน นักแข่งโมเนแกสคว้าโพลแรกให้กับตัวเองได้อย่างไม่ยากเย็น แต่ถึงกระนั้นเขาก็ต้องลำบากลำบนเล็กน้อยกับการแข่งขันในช่วงแรก เมื่อเขาสตาร์ทแล้วหล่นลงไปอยู่หลัง ลูวอิส แฮมิลตัน และ เซบาสเตียน เวทเทล แต่นักแข่งโมเนแกสมาเอาตำแหน่งผู้นำคืนได้ในรอบที่ 6

●   เลอแคลร์นั้นดูเร็วมากและไม่สามารถต่อต้านได้เลยในสนามแห่งนี้ อย่างไรก็ตามเหมือนฟ้าจะคิดว่ายังไม่ถึงเวลาสำหรับนักแข่งวัย 21 ปี รถของเขาพบกับปัญหาเครื่องยนต์ในขณะที่เหลือการแข่งขันอีกไม่ถึง 10 รอบ แฮมิลตันและบ็อตตาสนั้นตามมาทันและแซงกันไปทั้งคู่ก่อนที่จะถึงเส้นชัย ทำให้ถึงแม้ว่านี่จะเป็นโพเดียมแรกของเลอแคลร์ แต่น่าเสียดายที่มันควรจะเป็นชัยชนะครั้งแรกของเขาเสียด้วยซ้ำ

เซบาสเตียน เวทเทล : 22 เรซ (อิตาเลียนกรังด์ปรีซ์ 2008, อันดับ 1)

●   โทโรรอสโซนั้นดูจะเป็นม้านอกสายตาในช่วงต้นฤดูกาล 2008 แต่หลังจากที่ เอเดรียน นิวอี้ อัพเกรดตัวแข่งจาก STR2B มาเป็น STR3 พวกเขาก็ทำผลงานได้ดีขึ้น และผลงานที่ดีที่สุดก็มาในอิตาเลียนกรังด์ปรีซ์ ท่ามกลางสภาพอากาศฝนกระหน่ำ เมื่อนักแข่งวัย 21 ปี นามว่า เซบาสเตียน เวทเทล พารถโทโรรอสโซคว้าตำแหน่งโพลเป็นครั้งแรก นอกจากนั้นใครจะคิดว่านักแข่งหนุ่มชาวเยอรมนีจะสามารถยืนระยะได้ต่อในวันอาทิตย์ที่ทำการแข่งขัน

●   เวทเทลนั้นออกสตาร์ทขึ้นนำและนำหายไปอีกเช่นกันท่ามกลางสภาพฝนกระหน่ำ และทุกคนต่างช็อคเมื่อนักแข่งเยอรมันคว้าโพเดียมซึ่งเป็นชัยชนะเสียด้วยได้สำเร็จ ทำให้เวทเทลกลายเป็นนักแข่งที่ขึ้นโพเดียมและคว้าชัยชนะที่มีอายุน้อยที่สุดในเวลานั้นไปโดยปริยาย

เซอร์จิโอ เปเรซ : 19 เรซ (มาเลเซียนกรังด์ปรีซ์ 2012, อันดับ 2)

●   แสดงฝีมือออกมาให้เห็นจนผู้คนชื่นชมอยู่บ้างสำหรับ เซอร์จิโอ เปเรซ นักแข่งสังกัดเซาเบอร์ ในปี 2011 และในปีต่อมาเพียงสนามที่ 2 เขาก็เกือบจะสร้างความช็อคให้กับวงการโดยการเป็นผู้ชนะมาเลเซียนกรังด์ปรีซ์ เรซซึ่งมีฝนโปรยปรายลงมา

●   ในช่วงท้ายการแข่งขันฝนได้หยุดตก เฟอร์นันโด อลองโซ ผู้นำขณะนั้นได้เปลี่ยนไปใช้ยางฮาร์ด ในขณะที่เปเรซซึ่งตามมาเป็นอันดับ 2 ได้เปลี่ยนไปใช้ยางมีเดียม นักแข่งเม็กซิกันกำลังขยับเข้าใกล้นักแข่งสแปนิชเข้าไปทุกขณะ แต่แล้วเมื่อมาถึงท้ายรถสีแดง เปเรซกลับพลาดหลุดแทร็คออกไปเล็กน้อย นั่นทำให้เขาหมดโอกาสในการคว้าชัยชนะไป อย่างไรก็ตามการขึ้นโพเดียมในอันดับ 2 ก็นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างมหาศาลสำหรับทีมเล็กๆ อย่างเซาเบอร์อยู่ดี

คิมี ไรค์โคเนน : 17 เรซ (ออสเตรเลียนกรังด์ปรีซ์ 2002, อันดับ 3)

●   ย้อนกลับไปในปี 2001 เซาเบอร์ได้ไปเตะตานักแข่งหนุ่มวัย 21 ปี ซึ่งดูจะมีศักยภาพในการแข่งขันที่ยอดเยี่ยม นักแข่งคนนั้นมีชื่อว่า คิมี ไรค์โคเนน และเขาพึ่งเคยขับรถฟอร์มูล่าล้อเปิดมาเพียง 23 สนาม เท่านั้น! แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขามีปัญหากับการปรับตัวในการขับ F1 แต่อย่างใด นักแข่งฟินน์เริ่มต้นฤดูกาลแรกด้วยการเก็บแต้มอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เขาจบฤดูกาลในอันดับ 10 และได้รับการดึงตัวไปร่วมทีมแม็คลาเรนในปีถัดไป

●   สนามเปิดฤดูกาลที่ออสเตรเลียในปี 2002 นับว่าเป็นหนึ่งในเรซที่วุ่นวายที่สุดในปีนั้น มีนักแข่งออกจากการแข่งขันถึง 14 คน โดย 8 คน นั้นออกจากการแข่งขันตั้งแต่โค้งแรก ราล์ฟ ชูมัคเกอร์ ชนท้าย รูเบน บาร์ริเคลโล และก่อให้เกิดการชนต่อเนื่องในกลุ่มกลาง ไรค์โคเนนเองก็ตกเป็นหนึ่งในเหยื่อของโค้งแรก แต่นักแข่งฟินน์สามารถพารถกลับเข้าแข่งขันต่อได้ถึงแม้ว่าจะตกไปอยู่อันดับสุดท้าย

●   ไรค์โคเนนนั้นขยับขึ้นมาถึงอันดับ 4 ได้ในรอบที่ 10 และช่วงนี้เซฟตี้คาร์ได้ออกมาอีกครั้งจากอุบัติเหตุของ ยาร์โน ทรูลลี และนั่นทำให้ไรค์โคเนนตามมาจ่อหลังกลุ่มนำได้

●   เมื่อถึงจังหวะรีสตาร์ท เดวิด คูลธาร์ด พลาดท่าหลุดโค้งออกไป ไรค์โคเนนจึงขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 3 และเขาก็เกาะอันดับนี้ไว้ได้จนกระทั่งผ่านเส้นชัย

โรมัง โกรส์ฌอง : 11 เรซ (บาห์เรนกรังด์ปรีซ์ 2012, อันดับ 3)

●   หลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จในการมาแทนที่ เนลสัน ปิเกต์ จูเนียร์ ในปี 2009 โรมัง โกรส์ฌอง ได้โอกาสมาลงแข่งขัน F1 เต็มฤดูกาลเป็นครั้งแรกในปี 2012 และเขาเริ่มต้นฤดูกาลด้วยความปังจริงๆ ควอลิฟายได้กริดที่ 3 และสตาร์ทออกมาชนกับ ปาสเตอร์ มัลโดนาโด้ ดังปังตั้งแต่รอบแรก นั่นทำให้นักแข่งเฟรนช์ต้องรอจนถึงสนามที่ 4 ที่บาห์เรน ถึงจะได้โพเดียมครั้งแรก

●   โกรส์ฌองนั้นสตาร์ทขึ้นมาได้ดีโดยแซงด้านนอกของ นิโค รอสเบิร์ก และ เจนสัน บัตตัน จากนั้นไม่กี่รอบเขาก็ใช้ DRS แซงผ่าน มาร์ค เวบเบอร์ และ ลูวอิส แฮมิลตัน ขึ้นมาได้ ในช่วงนี้เขาอยู่ในอันดับ 2 แต่แล้วเขาก็ถูก คิมี ไรค์โคเนน เพื่อนร่วมทีมที่ยางสดกว่า แซงขึ้นไป แต่นักแข่งเฟรนช์สามารถรักษาอันดับของตัวเองไว้ได้และทำให้โลตัสขึ้นโพเดียมในอันดับ 2 และ 3 นอกจากนั้นโกรส์ฌองยังเป็นนักแข่งเฟรนช์คนแรกที่ขึ้นโพเดียมต่อจาก ฌอง อเลซี ที่เบลเยียมในปี 1998

แลนซ์ สโตรล : 8 เรซ (อาเซอร์ไบจันกรังด์ปรีซ์ 2017, อันดับ 3)

●   หลังจาก 7 เรซ กับวิลเลียมส์, แลนซ์ สโตรล นั้นรีไทร์ถึง 4 ครั้ง และเก็บแต้มได้เพียง 2 แต้ม สถานการณ์นั้นดูไม่ดีเอาเสียเลยสำหรับนักแข่งแคนาเดียน แต่แล้วที่บากู, อาเซอร์ไบจัน เขาก็สามารถพลิกสถานการณ์และขึ้นโพเดียมแรกได้สำเร็จ

●   สโตรลนั้นสตาร์ทจากกริดที่ 8 ตามหลังคู่หูฟอร์ซอินเดีย ซึ่งไม่นานนักก็ชนเข้ากับ คิมี ไรค์โคเนน นั่นทำให้เขาขยับอันดับขึ้นมา 2 อันดับ จากนั้นหลังช่วงที่มีเซฟตี้คาร์ สโตรลขยับขึ้นมาถึงอันดับ 3 และขึ้นเป็นอันดับ 2 เมื่อ เซบาสเตียน เวทเทล และ ลูวอิส แฮมิลตัน ต้องเข้าพิท นักแข่งแคนาเดียนดูเหมือนจะรักษาอันดับ 2 ไว้ได้ แต่บนทางตรงก่อนถึงเส้นชัย วาลท์เทรี บ็อตตาส ก็เร่งเครื่องและแซงขึ้นมาหน้าเส้นชัยได้ ทำให้สโตรลหล่นลงไปอยู่อันดับ 3 หลังผ่านเส้นชัย แต่อย่างน้อยเขาก็ประสบความสำเร็จในการเก็บโพเดียมแรกให้กับตัวเอง

โรเบิร์ต คูบิคซ่า : 3 เรซ (อิตาเลียนกรังด์ปรีซ์ 2006, อันดับ 3)

●   ถล่มคู่แข่งเสียยับเยินในรายการ เวิร์ล ซีรีย์ บาย เรโนลต์, โรเบิร์ต คูบิคซ่า ได้ถูกดึงตัวขึ้นมาทดสอบรถกับ BMW เซาเบอร์ในปี 2006 และเมื่อ ฌาค วิลเนิฟ ประสบอุบัติเหตุในการแข่งขันที่เยอรมนี คูบิคซ่าก็ได้ถูกโปรโมตขึ้นมาเป็นนักแข่งตัวจริงแทนและได้กลายเป็นนักแข่งชาวโปแลนด์คนแรกในประวัติศาสตร์ F1

●   เมื่อขึ้นมาเป็นนักขับตัวจริง คูบิคซ่าก็ไม่ต้องใช้เวลานานในการเอาท์-ควอลิฟาย ทีมเมทอย่าง นิค ไฮด์ฟีลด์ และเพียงแค่ 2 สนามหลังจากนั้น เขาก็ได้ขึ้นโพเดียมอย่างรวดเร็ว

●   คูบิคซ่าสตาร์ทจากกริดที่ 6 และขยับขึ้นอันดับ 3 ทันทีตั้งแต่โค้งแรก และเขาก็อยู่ในอันดับนี้มาตลอดจนกระทั่ง เฟอร์นันโด อลองโซ เข้าพิทและออกมาอยู่หน้าเขา แต่ไม่นานหลังจากนั้นนักแข่งสแปนิชก็ได้รีไทร์ออกไป นั่นทำให้นักแข่งโปลได้อันดับ 3 กลับคืนมา ซึ่งเขาก็สามารถต้านทานความกดดันจาก เฟลิเป้ มาสซ่า ได้จนจบการแข่งขันและขึ้นโพเดียมได้สำเร็จ เพียงแต่ว่าวันนั้นหลังจากขึ้นโพเดียม มิคาเอล ชูมัคเกอร์ ได้ประกาศรีไทร์ตัวเองหลังจบฤดูกาล นั่นจึงทำให้คูบิคซ่าไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

เควิน แม็กนุสเซน : 1 เรซ (ออสเตรเลียนกรังด์ปรีซ์ 2014, อันดับ 2)

●   ด้วยความเชื่อมั่นจากการคว้าแชมป์ ฟอร์มูล่า เรโนลต์ 3.5 ในปี 2013 เควิน แม็กนุสเซน นั้นถูกดึงตัวเข้ามาแทนที่ เซอร์จิโอ เปเรซ ในแม็คลาเรนปี 2014 เขาเปิดตัวได้อย่างเฉิดฉายทีเดียวกับการควอลิฟายได้อันดับ 4 ในช่วงที่มีฝนตกลงมา หลังจากนั้นในการแข่งขัน เขาก็สามารถรักษาอันดับของตัวเองไว้ได้และกดดัน แดเนียล ริคคิอาร์โด ซึ่งอยู่ข้างหน้าเขา และถึงแม้ว่าริคคิอาร์โดจะรักษาอันดับของตัวเองไว้ได้หลังผ่านเส้นชัย แต่เขาก็ถูกริบผลการแข่งขันไป เมื่อมารวมกับการที่ ลูวอิส แฮมิลตัน ไม่จบการแข่งขันเช่นกัน นั่นทำให้นักแข่งแดนทะยานขึ้นสู่อันดับ 2 นับตั้งแต่ครั้งแรกที่เขาลงแข่งขัน

ลูวอิส แฮมิลตัน : 1 เรซ (ออสเตรเลียนกรังด์ปรีซ์ 2007, อันดับ 3)

●   เข้าวงการมาก็สร้างปรากฏการณ์ความน่าตื่นเต้นทันทีสำหรับ ลูวอิส แฮมิลตัน แชมป์โลก GP2 2006 วัย 22 ปี ด้วยการที่ถูกดันขึ้นแม็คลาเรน ทีมแข่งชั้นนำในเวลานั้น ตั้งแต่เดบิวต์ นักแข่งผิวสีก็ทำเวลาเร็วที่สุดในรอบซ้อมแรกตั้งแต่สนามแรกที่ออสเตรเลียทันที ถึงแม้ว่าจะมีทีมเมทสุดแกร่งดีกรีแชมป์โลก F1 คนปัจจุบันในเวลานั้นอย่าง เฟอร์นันโด อลองโซ ก็ตาม

●   แฮมิลตันทำเวลาในการควอลิฟายมาเป็นอันดับ 4 ในขณะที่อลองโซนั้นสตาร์ทแถวหน้า อย่างไรก็ตามในการออกสตาร์ท นักแข่งสหราชอาณาจักรฯ ชิงเข้าโค้งแรกปาดหน้านักแข่งสแปนิชไปได้ และนำอยู่หน้านักแข่งสแปนิชอยู่นานจนกระทั่งพิทสุดท้าย ซึ่งทางทีมตัดสินใจเรียกแชมป์โลก 2 สมัย อันเดอร์คัทเข้าพิทก่อน

●   มันเป็นการเดบิวต์ที่ยอดเยี่ยมและทำได้ยอดเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง แฮมิลตันจบการแข่งขันใน 8 เรซถัดไป บนโพเดียมทั้งหมด รวมทั้งชัยชนะที่แคนาดาและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขารั้งอลองโซไว้ข้างหลังเขาได้ตลอดการแข่งขัน ทำให้สถานการณ์บานปลายกลายเป็นคู่แข่งที่เดือดที่สุดคู่หนึ่งในประวัติศาสตร์ F1 นอกจากนั้นแฮมิลตันยังจบฤดูกาลได้อย่างสุดยอด ด้วยการทำคะแนนเทียบเท่าเพื่อนร่วมทีมดีกรีแชมป์โลกของเขา และทำคะแนนตามหลัง คิมี ไรค์โคเนน แชมป์โลกในปีนั้น อยู่เพียง 1 แต้ม

5 นักแข่งที่ยังไม่เคยสัมผัสโพเดียม

  • จอร์จ รัสเซล : 20 เรซ, ดีที่สุดอันดับ 11
  • แลนโด้ นอริส : 20 เรซ, ดีที่สุดอันดับ 6
  • อเล็กซานเดอร์ อัลบอน : 20 เรซ, ดีที่สุดอันดับ 4
  • อันโตนิโอ โจวินาซซี : 22 เรซ, ดีที่สุดอันดับ 5
  • นิโค ฮูลเคนเบิร์ก : 176 เรซ, ดีที่สุดอันดับ 4

ที่มา :
•  www.formula1.com.