January 23, 2020
Motortrivia Team (10197 articles)

Honda City SV แรงเกินพิกัด ประหยัดเกินคาด

เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ • ภาพ : ฮอนด้า

●   ฮอนด้า ซิตี้ โฉมใหม่ เจนเนอเรชั่นที่ 5 เปิดตัวในไทยปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว กวาดยอดจองไปราว 8,000 คัน โดยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นรุ่น RS และ SV หลังเปิดตัวไม่นาน ทีมงานมอเตอร์ทริเวียได้ทดลองขับแบบสั้นๆ ในสนามทดสอบของฮอนด้า ในรุ่นย่อย RS เปิดศักราชใหม่ก็ได้โอกาสทดลองขับซิตี้ใหม่แบบยาวๆ อีกครั้งกับรุ่นรองท๊อป SV ในการทดสอบแบบกลุ่ม ใช้เส้นทางเชียงราย-เชียงของ ระยะทางรวมไป-กลับประมาณ 200 กิโลเมตร

●   ฮอนด้า ซิตี้ SV ราคา 665,000 บาท ส่วนรุ่นสูงสุด RS ราคา 739,000 บาท ส่วนต่าง 74,000 บาท ถ้าเทียบกันใน 2 รุ่นนี้ นับว่าคุ้มค่าที่จะขยับไปซื้อรุ่น RS เพราะได้อุปกรณ์มาตรฐานเพิ่มเติมหลายรายการ ภายนอกหลักๆ ก็เช่น ชุดแต่ง RS ทั้งกันชนหน้า-หลัง ไฟหน้าและไฟตัดหมอก LED กระจังหน้าและกระจกมองข้างสีดำ ล้อแม็ก 16 นิ้วพร้อมยาง 185/55 R16 (SV ยางขนาด 185/60 R15) ในการทดลองขับมีรถให้ทั้ง 2 รุ่น เปรียบเทียบกันแล้ว RS สวยสปอร์ตถูกใจกว่า

●   มิติตัวรถของรุ่น SV ที่ทดลองขับ มีความยาว 4,553 มิลลิเมตร กว้าง 1,748 มิลลิเมตร สูง 1,467 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,589 มิลลิเมตร ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,497/1,483 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุด 135 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1,154 กิโลกรัม

●   ภายในของทั้ง 2 รุ่นก็แตกต่างกันหลายรายการ RS เน้นความสปอร์ตด้วยโทนสีดำ เบาะด้ายแดง มี Paddle Shift มีครูสคอนโทรล มีระบบ Honda CONNECT เพิ่มช่องจ่ายไฟฟ้าด้านหลัง 2 ตำแหน่ง ที่เท้าแขนด้านหลังพร้อมที่วางแก้วน้ำ ส่วนระบบความปลอดภัยมีม่านนิรภัยด้านข้าง (รุ่นย่อยอื่นมีแอร์แบ็กคู่หน้าและด้านข้าง) นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างปลีกย่อยอีกหลายรายการ จึงคุ้มค่าที่จะขยับ

นายณัฏฐ์ ปฏิภานธาดา ผู้จัดการทั่วไปส่วนการตลาดและการวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด

●   ทุกรุ่นย่อยใช้เครื่องยนต์เดียวกันแบบเบนซิน 3 สูบ DOHC VTEC 12 วาล์ว เทอร์โบ ความจุ 988 ซีซี กำลังสูงสุด 122 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 17.6 กก.-ม. ที่ 2,000-4,500 รอบต่อนาที รองรับ E20 ถังน้ำมันจุ 40 ลิตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT อัตราทด 2.544-0.402 เฟืองท้าย 4.992

●   ระบบกันสะเทือนหน้าอิสระแม็กเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังทอร์ชั่นบีม ระบบเบรกหน้าดิสก์หลังดรัม ระบบบังคับเลี้ยวแร็กแอนด์พิเนียนพร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า วงเลี้ยวแคบสุด 5 เมตร

1000 เทอร์โบ ขับสนุก ราบลื่น

●   การทดลองขับเริ่มจากโรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงราย ขับรวดเดียวถึงจุดพักทานมื้อกลางวันพร้อมเปลี่ยนผู้ขับ ที่โรงแรมน้ำโขง ริเวอร์ไซด์ ระยะทางบนชุดมาตรวัด 99.4 กิโลเมตร อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยหลังเซต 0 ก่อนออกเดินทาง 14.5 กิโลเมตรต่อลิตร

●   ที่ความเร็วต่ำ เครื่องยนต์ของฮอนด้า ซิตี้ ใหม่ ทำงานได้ราบเรียบนุ่มนวล ไม่มีอาการกระชากหรือขับยาก ขับตามๆ กันในเมืองได้เหมือนเครื่องยนต์ไม่มีเทอร์โบ การควบคุมความเร็วด้วยคันเร่งทำได้ง่าย เกียร์อัตโนมัติ CVT ช่วยเสริมให้ขับได้นุ่มนวลต่อเนื่อง เพราะการเปลี่ยนจังหวะเกียร์ไม่มีอาการกระตุก เมื่อถนนโล่งเครื่องยนต์บล็อกนี้ได้แสดงประสิทธิภาพที่ซ่อนอยู่

●   การเร่งเพิ่มความเร็วทำได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องรีดเค้นเครื่องยนต์ ไม่ต้องลากรอบสูงๆ แค่เลี้ยงคันเร่งให้รอบอยู่ในช่วง 2,000-3,000 รอบฯ รถก็พุ่งไปแบบนิ่มๆ เพื่อนสื่อมวลชนที่ขับคู่กันใช้เครื่องมือวัดอัตราเร่งโดยรับสัญญาณจาก GPS ทั้งในโหมดเกียร์ D และ S ได้ตัวเลข 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงประมาณ 10.6-10.3 วินาที จี๊ดจ๊าดพอตัว ช่วงกดคันเร่งออกตัวมีเสียงล้อหน้าฟรีทิ้งนิดๆ

●   ช่วงถนนโล่งมองเห็นทางข้างหน้าได้ไกล และข้างทางกว้างมองได้ชัดเจนหากจะมีอะไรตัดหน้า กดคันเร่งเพลินๆ เข็มความเร็วแตะ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วงถนนโล่งใช้ความเร็วยืนพื้นแถวๆ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้สบาย ช่วงไต่ทางชันดึงคันเกียร์มาที่ S ไม่ได้ช่วยเพิ่มแรงม้าแรงบิด แต่ช่วยรักษารอบเครื่องยนต์ให้อยู่ในช่วงรอบแรงบิดสูงสุด ที่เหลือก็แค่เลี้ยงคันเร่งดีๆ เว้นระยะห่างจากคันหน้าให้เหมาะสม รถก็ไต่เนินได้อย่างมีพลังและใช้รอบไม่สูงนัก

●   สมรรถนะของเครื่องยนต์ เป็นจุดที่ถูกใจที่สุดของรถรุ่นนี้ แรงเกินตัว แต่ยังขับความเร็วต่ำได้นุ่มนวล และที่สำคัญคือ ขับให้ประหยัดได้ไม่ยาก ใช้ความเร็วค่อนข้างสูงเกือบตลอดทาง พอขับช้าลงไม่นาน อัตราสิ้นเปลืองก็ขยับดีขึ้นเรื่อยๆ จบครึ่งทางที่ 14.5 กิโลเมตรต่อลิตร ยังห่างจากตัวเลขโรงงาน 23.8 กิโลเมตรต่อลิตร แต่ก็เหมาะสมกับลักษณะการขับที่ใช้ความเร็วสูงบ่อย มีขึ้นเนินและเร่งแซง ใช้เกียร์ S หลายช่วง นอกจากนี้ฮอนด้า ซิตี้ ใหม่ ยังมีค่ามาตรฐานไอเสียระดับ EURO 5 อีกด้วย ในการทดลองขับ มีทีมวิศวกรจากญี่ปุ่นมาลองขับวัดอัตราสิ้นเปลืองด้วย ผู้ชายนั่ง 4 คน เปิดแอร์ปกติ ความเร็วประมาณ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้ตัวเลข 21.6 กิโลเมตรต่อลิตร

●   เกียร์อัตโนมัติ CVT ยุคใหม่ ควบคุมจังหวะการเปลี่ยนเกียร์ผ่านคันเร่งได้ง่ายขึ้น มีการตอบสนองใกล้เคียงเกียร์อัตโนมัติแบบมาตรฐาน แต่เด่นที่กว่าความนุ่มนวลและต่อเนื่องเพราะแทบไม่มีช่วงรอบตกเมื่อเปลี่ยนเกียร์ขึ้นสูง ช่วยเสริมสมรรถนะเครื่องยนต์ได้ดี แต่ยังมีบางจังหวะเช่น ขับมาแล้วยกคันเร่ง บางครั้งเหมือนเกียร์จะงงๆ มีอาการตะกุกตะกักให้สัมผัสได้บ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับน่ารำคาญจนรับไม่ได้

การบำรุงรักษาเหมือนรถทั่วไป

●   ไม่ต้องกังวลกับคำว่าเทอร์โบ เพราะเป็นการออกแบบและติดตั้งมาจากโรงงาน มีมาตรฐานและการรับประกัน ตัวเทอร์โบปรับบูสต์ไว้ราว 2 บาร์ ออกแบบให้ใช้งานในชีวิตปะจำวัน จึงไม่ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาก็พอๆ กัน

●   เมื่อถึงกำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง จะมีไฟเตือนบนชุดมาตรวัด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 8,000-10,000 กิโลเมตร โดยกล่องควบคุมจะบันทึกว่าเครื่องยนต์หมุนทำงานไปกี่รอบแล้ว และวัดโหลดของเครื่องยนต์ อุณหภูมิน้ำหล่อเย็นและน้ำมันเครื่อง แล้วนำไปประมวลผลว่าควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่องหรือยัง โดยทางฮอนด้าแนะนำความหนืด 0W 20

ช่วงล่างเซตตามคอนเซ็ปต์รถ

●   ฮอนด้า ซิตี้ ใหม่ พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด Sport Premium เครื่องยนต์แรงพอตัว ระบบกันสะเทือนจึงต้องเซตให้รองรับได้อย่างปลอดภัย มีความหนักแน่นและหนึบเกินประเภทรถ ใช้ความเร็วสูงได้อย่างมั่นใจ เข้าโค้งสนุก ฟังเสียงยางครวญครางเป็นบางครั้ง แต่รถไม่ออกอาการว่าจะเสียการทรงตัว ถ้าเล่นกันแรงๆ บนถนนที่เป็นคลื่นลอนถึงจะรู้สึกว่ามีอาการยวบยาบบ้าง

●   ถ้าเป็นการขับด้วยความเร็วปกติ ฮอนด้า ซิตี้ รับมือได้สบายโดยที่ยังคงความนุ่มนวลนั่งสบาย ไม่หนึบเกินจนแข็งกระด้าง เซตมาพอดีสำหรับการขับสนุกพอสมควร และนุ่มนวลแต่ไม่ย้วย พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าก็เช่นกัน ปรับน้ำหนักมาพอเหมาะ ไม่เบาหวิวจนน่ากลัว ที่ความเร็วสูงรู้สึกว่าพวงมาลัยหนืดหนักขึ้นอีกนิด ทำให้ขับง่าย รถไม่วูบวาบ

●   อีกหนึ่งจุดที่ทำได้ดีคือ ระบบเบรก ที่แม้จะเป็นดรัมเบรกหลัง แต่ด้านประสิทธิภาพไม่ด้อยไปตามหน้าตา สร้างแรงเบรกได้หนักแน่นเมื่อจำเป็นต้องเบรกหนัก และมีการจับตัวที่นุ่มนวลสอดคล้องกับน้ำหนักเท้าที่เหยียบแป้นเบรก ทำให้เบรกได้นุ่มนวลและปลอดภัย

●   โดยรวมฮอนด้า ซิตี้ ใหม่ เป็นรถในแบบที่ชอบคือ เครื่องยนต์ตอบสนองดีตั้งแต่รอบต่ำ ไม่ต้องลากรอบสูงก็ให้การตอบสองที่ดี ไม่ใช่คนที่ขับรถเร็วก็น่าจะชอบ เกียร์อัตโนมัติ CVT ที่มีพฤติกรรมดีขึ้น แต่โดยรวมก็ยังชอบเกียร์อัตโนมัติแบบมาตรฐานมากกว่า ช่วงล่างหนึบกำลังดีและไม่กระด้าง กับเบรกที่มีพลังและควบคุมได้ง่าย อุปกรณ์มาตรฐานครบครันตามรุ่นย่อย ห้องโดยสารกว้างขวาง ด้านหลังเหลือเฟือสำหรับผู้โดยสารหุ่นมาตรฐาน 2 คน คุณภาพวัสดุโดยรวมก็ตามระดับราคา ไม่ถึงกับหรูหราแต่ก็ดูไม่แย่ รูปร่างหน้าตาของรุ่น RS ดูสปอร์ตดี ทำเอารุ่นรองลงไปดูจืดไปเลย  ●

ขอบคุณ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด อำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง


Group Test : Honda City SV 2020