January 7, 2020
Motortrivia Team (10203 articles)

Sony Vision-S ต้นแบบรถไฟฟ้าแบบแบตฯ ของแบรนด์โซนี่

เรื่อง : AREA 54

●   โซนี่ ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ใช้พื้นที่ในงาน 2020 International CES (Consumer Electronics Show) จัดแสดงรถต้นแบบพลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ใช้ชื่อว่า Sony Vision-S ซึ่งแน่นอนว่าโซนี่ยังไม่มีแผนการผลิต Vision S เป็นรุ่นจำหน่ายจริง และนี่เป็นเพียงการแสดงวิสัยทัศน์กี่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีเซนเซอร์ และชุดระบบอินโฟเทนเมนท์ของโซนี่เท่านั้น แม้ว่าจะมีคำว่า “โปรโตไทป์” พ่วงเอาไว้ก็ตาม

●   Vision S อยู่ในรูปโฉมของซีดาน 4 ประตูทรงเปรียวแบบรถ coupe-like งานออกแบบเรียบง่าย ใช้คู่สีกึ่งทูโทน ด้านบนของตัวรถเหนือเส้นไหล่ขึ้นไปเป็นสีดำแยกส่วน หลังคาพาโนรามิคเต็มพื้นที่ โดยรวมไม่ได้โดดเด่นจนถึงกับฉีกไปจากรถซีดานยุคใหม่ทั่วไปในปัจจุบัน

●   หากถามว่าโซนี่จะผลิตจริงได้ไหม? (ถ้าเอาจริง) ได้แน่นอนครับ เนื่องจากโซนี่สามารถใช้บริการซัพพลายเออร์ที่มีอยู่มากมายในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ได้สบายๆ เช่น ในกรณีของ Vision-S นี้ โซนี่ได้ใช้บริการของ Magna International Inc. ในส่วนของงานวิศวกรรม รวมถึงเทคโนโลยีบางส่วนจากซัพพลายเออร์ที่ไฮเทคที่สุดในโลกของชุดระบบช่วยขับในกลุ่ม ADAS อย่าง BOSCH และ Continental ด้วย

●   อย่างไรก็ตาม โซนี่ระบุว่าผลงานที่เห็นนี้ ทีมงาน AI และ Robotics ของโซนี่ (ทีมผู้พัฒนาหุ่นเจ้าหมา Aibo) ได้มีส่วนในการผลิตด้วย

●   องค์ประกอบสำคัญของ Vision S ที่โซนี่ต้องการนำเสนอคือ เทคโนโลยีเซนเซอร์รอบคัน ทั้งภายนอกและภายในตัวรถ แยกการทำงานแตกต่างกัน 33 รูปแบบ, มีเทคโนโลยี LiDAR, ห้องโดยสารเด่นด้วยจออัลตร้าไวด์สกรีนวางเชื่อมต่อกันตลอดความยาวแผงแดชบอร์ด, กระจกมองข้างติดตั้งกล้อง แสดงผลผ่านจอในห้องโดยสาร, ชุดระบบเสียง 360 องศา และเทคโนโลยี always-on แบบสมาร์ทโฟน

●   สำหรับการทำงานของชุดเซนเซอร์หลักๆ ส่วนใหญ่ เกี่ยวเนื่องกับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ เช่นเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์อื่นๆ เช่น มี AI เป็นผู้ช่วยเสมือนสำหรับการจัดการระบบการสื่อสาร เรียกใช้ และดูแลฐานข้อมูล, เทคโนโลยีการประมวลผลด้านภาพ (สำหรับการประมลผลภายนอกตัวรถ) ที่รองรับ HDR และใช้ความสามารถของ CMOS image sensors ที่มีอยู่ในมือแล้ว ผนวกเข้ากับ LIDAR ที่สามารถตรวจจับ สร้างภาพวัตถุรอบคัน ทำงานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน

●   ปิดท้ายด้วยเซนเซอร์ ToF หรือ Time of Flight ที่พัฒนามาเพื่อตรวจจับวัตถุ, คนเดินถนน รวมถึงผู้ที่อยู่ในห้องโดยสารเอง (ออกแบบให้ควบรวมกับระบบอินโฟเทนเมนท์) ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีต้นแบบใหม่ที่โซนี่เรียกว่า “Safety Cocoon Concept” สามารถตรวจจับสิ่งต่างๆ และประมวลผลรอบตัวรถได้ 360 องศา

●   ด้านสมรรถนะ โซนี่ระบุแต่เพียงว่า ตัวรถจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเอาท์พุท 200 กิโลวัทท์ หรือประมาณ 268 แรงม้า (HP) ว่ากันตามตรง… ดูไม่หวือหวา แต่ก็ไม่ได้ขี้เหร่อะไรครับสำหรับสเปครถบ้านในยุคอนาคต

●   อย่างที่เกริ่นไว้ครับ หากโซนี่จะผลิตรถสักคัน ไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะคุ้มกับทุนที่ลงไปหรือไม่ นั่นเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากจริงๆ  ●

UPDATE 1 : สเปคตัวรถอย่างเป็นทางการ

9 มกราคม 2563

●   หลังจากที่โซนี่จัดแสดง Vision-S ไปใน CES มีคำถามเกิดขึ้นมากมายในโลกออนไลน์ว่า โซนี่จะผลิตรถยนต์จริงหรือไม่? ผู้แปลก็ต้องตอบเหมือนเดิมว่า “ได้ครับ ถ้าโซนี่ต้องการผลิต” เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เองในปัจจุบัน ก็ไม่ได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างเองไปเสียทั้งหมด เทคโนโลยีหลายๆ อย่างในรถยนต์ ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานการพัฒนาของซัพพลายเออร์น้อยใหญ่ทั้งสิ้น

●   แชสซีส์ของ Sony Vision-S นับเป็นแพลทฟอร์มใหม่ที่ออกแบบโดย Magna Steyr บริษัทลูกของ Magna International Inc. เบื้องต้นมันถูกเรียกว่า “newly-designed EV platform” มีความยืดหยุ่นในการผลิตรถหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น คูเป้, ซีดาน หรือ SUV… ผู้ที่ติดตามข่าวสารในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์กันมานาน คงจะมองภาพรวมออกว่า บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ทุกแบรนด์ต่างก็มีเทคโนโลยีนี้อยู่ในมือกันทั้งนั้น และจุดนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด

●   ขอบเขตงาน Magna ในปัจจุบัน มีตั้งแต่ส่วนงาน R&D ไปจนถึงงานในโรงงานผลิตรถยนต์ เช่น การพัฒนาชุดระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ 4Matic ให้กับเมอร์เซเดส ไล่ไปจนถึงการรับงานผลิตรถยนต์ อาทิ BMW Z4, Jaguar I-Pace, Mercedes-Benz G-Class หรือ Toyota Supra เป็นต้น… ดังนั้นถ้าโซนี่ต้องการจะผลิตรถจริงๆ แค่ลงเงินทุนไปก็พอครับ

●   อย่างไรก็ตาม โซนี่เองก็ไม่ได้ผลิตโปรโตไทป์ Vision-S เล่นๆ พวกเขาระบุว่ามีทีมงานบางส่วนที่ได้รับมอบหมายให้ทำความเข้าใจถึงการทำงานของรถ การผลิต ไล่ไปจนถึงวิธีการนำเสนอ และความสัมพันธ์ระหว่างรถและผู้คนในสังคมด้วย (ในเชิงการผลิต โปรโมท และจำหน่ายแบบครบวงจร)

●   สำหรับสเปคอย่างเป็นทางการ Vision-S มีขนาดตัวอยู่ในกลุ่มซีดานฟูลไซส์ ใกล้เคียงกับ Tesla Model S ความยาวรวม 4,895 มม. กว้าง 1,900 มม. สูง 1,450 มม. ตัวถังวางอยู่บนฐานล้อ 3,000 มม. น้ำหนักตัวรวม 2,350 กก. เทียบกับ Model S จะสั้นกว่า แคบกว่า ฐานล้อยาวกว่า (หมายถึงห้องโดยสารน่าจะสบายกว่าตามทฤษฎี) ทว่าจะหนักกว่าถึง +100 กก.

●   ชุดระบบขับเคลื่อนประกอบด้วย มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว แยกหมุนเพลาหน้า/หลัง ขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD กำลังรวมทั้งระบบ 544 แรงม้า (PS) อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ภายใน 4.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 240 กม./ชม.

●   เทคโนโลยีความปลอดภัยอื่นๆ รวมถึงระบบช่วยขับยุคใหม่ ไม่ต้องคิดอะไรมาก BOSCH และ Continental มีให้หมดแล้ว เบื้องต้นมีอาทิ ระบบ Advanced Cruise Control แปรผันความเร็วอัตโนมัติ, ระบบช่วยจอด Self-Parking และระบบ Auto-Lane Change ช่วยเปลี่ยนเลนอัตโนมัติ นอกจากนี้ ชุดระบบอินโฟฯ และซอฟท์แวร์สำหรับระบบขับเคลื่้อนอัตโนมัติ จะสามารถอัพเดทแบบ over-the-air ในลักษณะเดียวกับเทสล่าได้ โดยใช้ความสามารถของเทคโนโลยี 5G ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าโซนี่ก็คงจะมองไปถึง ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ Level 4-5 แบบเดียวกับเทสล่าที่จะปล่อยเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ในอนาคตผ่านการอัพเดทซอฟแวร์ให้ Autopilot

●   ใครสนใจก็ลุ้นกันต่อไปครับ ถ้าโซนี่พร้อมลงทุน ไม่ยากที่เราจะได้เห็นคันจริงของรถยนต์ภายใต้แบรนด์โซนี่

2020 Sony Vision-S Prototype