January 6, 2017
Motortrivia Team (10952 articles)

Autonomous Car และระดับมาตรฐานของระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ

เรื่อง : AREA 54

●   ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้อ่านหลายท่านคงสังเกตเห็นว่า ระบบขับเคลื่อนกึ่งอัตโนมัติ (Semi-autonomous) และ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบ 100% เต็ม (Fully autonomous) มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว และมีบทบาทในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เห็นได้จากข่าวสารของแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในเอเซียหรือยุโรป

●   สิ่งหนึ่งที่น่าจะทำให้หลายๆ ท่านสับสนก็คือ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบเต็มระบบ มีการใช้งานจริงในรถยนต์แล้วหรือยัง?

●   คำตอบคือ “ยังครับ” ตัวอย่างที่เห็นกันชัดๆ ก็คือระบบที่ใช้งานใน Tesla Model S ยังคงเป็นเพียงระบบกึ่งอัตโนมัติเท่านั้น ทว่าตัวฮาร์ดแวร์ต่างๆ ในชุดระบบมีการระบุว่ารองรับการอัพเกรดความสามารถเพิ่มเติมด้วยซอฟท์แวร์ใหม่ๆ ในอนาคต… หมายถึงตัวฮาร์ดแวร์ของระบบที่ประกอบด้วยกล้อง HD, เรดาห์, อัลตราโซนิค เซ็นเซอร์ และ LiDAR ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน (ปี 2017) จะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก จนกว่าจะมีใครพบอะไรใหม่ๆ ที่ใช้งานได้สมบูรณ์กว่านี้ เพียงแต่ตัวระบบต้องการซอฟท์แวร์สำหรับสั่งการการทำงานที่ชาญฉลาดกว่านี้ และในที่นี้เรายังไม่ได้พูดถึง A.I. หรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะเริ่มเข้ามามีบทบาทเหนือชุดระบบควบคุมอีกชั้นหนึ่งในอนาคต

●   เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมและข้อแตกต่างระหว่าง ระบบขับเคลื่อนกึ่งอัตโนมัติ และ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบเต็มระบบ 100% ผู้แปลขอยกคลาส (Classification) หรือข้อกำหนดความสามารถของระบบที่ถูกแยกหมวดหมู่อย่างเป็นทางการโดยสมาคมวิศวกรรมยานยนต์นานาชาติหรือ SAE International (Society of Automotive Engineers) มาให้เห็นกันชัดๆ ครับ ว่ารายละเอียดของแต่ละคลาสมีข้อกำหนดอะไรบ้าง:

Classification

●   Level 0 : รถยนต์ทั่วไปไม่ว่าจะขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิง หรือพลังงานทางเลือกอะไรก็ตาม รถในคลาสนี้ไม่มีระบบหรือตัวช่วยใดๆ ที่สามารถควบคุมรถเองได้ ผู้ขับต้องเป็นผู้ควบคุมรถทั้งหมดตั้งแต่สตาร์ทเครื่องยนต์จนถึงจุดหมายปลายทาง แต่มีการแจ้งเตือนด้วยสัญญาณต่างๆ เช่น แสง หรือเสียง ยกตัวอย่างการแจ้งเตือนด้วยสัญญาณในขณะปิดประตูรถไม่สนิท หรือลืมคาดเข็มขัดนิรภัย

●   Level 1 : ระบบกึ่งอัตโนมัติในคลาสนี้ ผู้ขับต้องพร้อมเข้าเทคโอเวอร์ระบบ หรือแทรกแซงการทำงานของระบบเพื่อควบคุมรถได้เองตลอดเวลา ตัวระบบในปัจจุบันมีอาทิ ระบบ Adaptive Cruise Control ควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน, ระบบ Lane Keeping Assistance ช่วยประคองพวงมาลัยในขณะที่รถออกนอกเลนโดยไม่ตั้งใจ หรือระบบ Parking Assistance ช่วยจอดอัตโนมัติ เป็นต้น… ตรงนี้จะเห็นได้ชัดว่าในกรณีของระบบช่วยจอดนั้น ผู้ขับยังต้องเป็นผู้ควบคุมแป้นคันเร่งและเบรคเอง

●   Level 2 : ผู้ขับยังคงมีหน้าที่หลักในการสังเกตสิ่งกีดขวาง ประเมินสถานการณ์ข้างหน้า และต้องตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ให้ทันเวลาหากระบบอัตโนมัติทำงานล้มเหลวในบางกรณี ในคลาสนี้ตัวรถต้องสามารถเร่งความเร็ว, เบรค หรือควบคุมพวงมาลัยได้เองโดยอัตโนมัติ ทว่าตัวระบบจะต้องถูกเทคโอเวอร์แป้นคันเร่ง, เบรค หรือพวงมาลัยได้ในทันทีหากต้องการ

●   Level 3 : เพิ่มขีดความสามารถในการใช้งานระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติได้ในพื้นที่ที่มีการจำกัดโซนเอาไว้ เช่น ฟรีเวย์, ไฮเวย์ ผู้ขับสามารถละการควบคุมรถไปทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ในขณะรถเคลื่อนที่ เช่น ละสายตาจากถนนไปหยิบสิ่งของ หรืออ่านข้อความสั้นๆ ทั้งนี้ผู้ขับจะยังคงต้องมีการเตรียมตัวเข้าควบคุมรถเองในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นกัน คือไม่ถึงกับละสายตาไปอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ, ดูหนังเป็นเรื่องๆ หรือเล่นเกมบนสมาร์ทโฟนอย่างจริงจัง

●   Level 4 : ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติต้องสามารถควบคุมรถได้ทั้งหมด ‘ยกเว้น’ ในสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรง เช่น พายุฝน หรือพายุหิมะ ดังนั้น ผู้ขับจะสามารถสั่งเปิดระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มระบบได้ก็ต่อเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมเท่านั้น ทว่ารถยนต์ในคลาส 4 นี้ ผู้ขับสามารถละสายตาจากท้องถนนไปทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ตามความเหมาะสม

●   Level 5 : คลาสนี้คือระดับสูงสุดที่ SAE ตั้งข้อกำหนดเอาไว้ ตัวระบบไม่ต้องการการควบคุมใดๆ จากผู้ขับเลยในทุกกรณี ผู้ขับเพียงแต่สตาร์ทเครื่องและระบุจุดหมายปลายทางบนเนวิเกเตอร์เท่านั้น (หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น สมาร์ทโฟน) ดังนั้นระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติในคลาสนี้ต้องมีความสามารถในการขับเคลื่อนตัวรถเองในทุกสถานการณ์โดยไม่ละเมิดกฏหมายใดๆ (เช่น บางรัฐยังไม่อนุญาตให้รถขับเคลื่อนอัตโนมัติวิ่งบนถนนหลวง) และสามารถตัดสินใจประเมินสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ด้วยตัวเอง ส่วนผู้ขับสามารถทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ตามความต้องการ

●   จากคลาสข้างต้นที่เห็นนี้ คุณผู้อ่านจะเห็นว่ารถยนต์ทั่วไปในปัจจุบันส่วนใหญ่ได้เข้าสู่ยุคของรถในคลาส Level 1 ไปเรียบร้อยแล้ว แม้แต่รถบ้านขนาดเล็กทั่วๆ ในตลาดโลกบางรุ่นก็ยังมีครูสคอนโทรลแบบแปรผัน หรือระบบป้องกันการออกนอกเลนโดยไม่ได้ตั้งใจให้ใช้งาน

●   ดังนั้น ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบ 100% ยังไม่มีแบรนด์ใดไปถึงจุดนั้นครับ (ถึงมีก็คงเป็น Beta Test) แม้แต่ระบบขับเคลื่อนกึ่งเคลื่อนอัตโนมัติของ Tesla Model S ที่มีชื่อทางการค้าว่า AutoPilot ก็ยังไม่อัตโนมัติ 100% และยังเป็นเพียงรถในคลาส Level 3 เท่านั้น… แม้จะดูล้ำหน้ากว่าแบรนด์อื่นๆ แต่ระบบของเทสล่าก็ถูกนับว่าอยู่ในคลาสเดียวกันกับระบบของ Nissan Serena ที่ใช้ชื่อว่าระบบ ProPilot อยู่ดีตามข้อกำหนดของ SAE

●   สำหรับผู้ที่สนใจข่าวสารนวัตกรรมใหม่ๆ น่าจะเห็นภาพความแตกต่างของ ระบบขับเคลื่อนกึ่งอัตโนมัติ และ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบ 100% กันชัดเจนขึ้นนะครับ… น่าเสียดายที่บ้านเรายังคงต้องติดอยู่ในวังวนของรถ Level 1 หรือเต็มที่ก็ Level 2 กันอีกนาน

●   บ้านเราก่อนจะไปถึงจุดนั้น ยังต้องผ่านยุคระบบขับเคลื่อนตัวรถแบบใหม่ๆ เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า, ฟิวเซลล์, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด หรือรถกรีนในรูปแบบอื่นๆ ให้ได้เสียก่อน เพราะแม้แต่รถไฮบริดระบบพื้นๆ ที่มีจำหน่ายกันแล้วแทบจะทุกคลาสทุกแบรนด์ในตลาดโลก ผู้คนทั่วไปในบ้านเรายังไม่สามารถกัดฟันสู้ราคาซื้อหากันมาขับได้ง่ายๆ เลยครับ

●   กล่าวได้ว่ารถกรีนทั้งหลายไม่มีทางเกิดได้ในบ้านเราตามกลไกปกติ   ●