May 8, 2020
Motortrivia Team (10201 articles)

Jeep Wrangler ผ่านทดสอบชนแบบอาการย่ำแย่ในบางจุด

เรื่อง : AREA 54

●  ในช่วงปี 2013 หน่วยงาน IIHS หรือ Insurance Institute for Highway Safety หน่วยงานประกันความปลอดภัยบนทางหลวงของสหรัฐฯ ได้ประกาศเพิ่มการทดสอบชนรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Small overlap frontal crash test” ซึ่งเป็นการชนแบบลักลั่น กินพื้นที่ปะทะด้านหน้าประมาณ 1 ใน 4 สร้างความตื่นตัวให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในด้านการพัฒนาโครงสร้างเพื่อความปลอดภัยให้ดีขึ้น เนื่องจากการชนในลักษณะนี้ สามารถสร้างความเสียหายได้อย่างรุนแรงกว่าการทดสอบชนในลักษณะหน้าเต็ม หรือ Full frontal crash แบบเดิม

●  ในช่วงแรกๆ นั้น มีบริษัทผู้ผลิตยักษ์ใหญ่หลายรายไม่การทดสอบชนในรูปแบบนี้ ทำให้ต้องมีการพัฒนาโครงสร้างของรถในส่วนหน้าใหม่ (ในรุ่นไมเนอร์เชนจ์ หรือรุ่นใหม่เลย) และส่วนใหญ่ก็ผ่านการทดสอบแบบ Small overlap frontal crash ในเวลาต่อมา ทว่าล่าสุด รถรุ่นใหม่เอี่ยมอย่าง Jeep Wrangler รุ่นปี 2019 บอดี้ 4 ประตู กลับพบปัญหาใหม่อย่างไม่คาดคิด และผ่านการทดสอบ Small overlap front: driver-side (ชนแบบลักลั่นทางฝั่งผู้ขับ) ในระดับ “M” หรือ Marginal ซึ่งเป็นระดับที่หมิ่นเหม่และอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้

●  ปัจจุบัน การทดสอบชนของ IIHS แบ่งเป็น 5 แบบหลักๆ ประกอบด้วย (1) Small overlap front: ใช้พิ้นที่ประมาณ 1 ใน 4 เข้าปะทะด้านหน้าที่ความเร็วประมาณ 65 กม./ชม. (2) Moderate overlap front: ใช้พื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 เข้าปะทะด้านหน้าที่ความเร็วประมาณ 65 กม./ชม. (3) Side: ใช้แบริเออร์กระแทกด้านข้างตัวรถที่ความเร็วประมาณ 50 กม./ชม.

●  ต่อด้วย (4) Roof strength: ใช้เพลทโลหะค่อยๆ กดลงไปที่หลังคาด้านใดด้านหนึ่งด้วยด้วยน้ำหนักและความเร็วต่ำคงที่ แรงกดที่ใช้คำนวณเทียบกับน้ำหนักของรถแต่ละรุ่น เรียกว่า อัตราส่วนความแข็งแรงต่อน้ำหนัก หรือ strength-to-weight ratio โครงสร้างหลังคาจะต้องรับน้ำหนักได้มากกว่าน้ำหนักตัวรถ 4 เท่า ก่อนที่โครงหลังคาจะมีการยุบตัว… การทดสอบนี้ใช้คำนวณค่าแทนการพลิกคว่ำของรถ ปิดท้ายด้วย (5) Head restraints & seats: จำลองการชนท้ายด้วยเครื่องจำลองที่ติดตั้ง dummy พร้อมชุดเบาะของรถรุ่นนั้นๆ หรือชนท้ายจริงด้วยการส่งรถคันที่ 2 พุ่งชนท้ายรถทดสอบที่จอดอยู่กับที่ด้วยความเร็วประมาณ 32 กม./ชม. เพื่อตรวจอาการบาดเจ็บจากการสะบัดของต้นคอ

●  เมื่อได้ค่าทดสอบทั้งหมดมาแล้ว IIHS จะแบ่งเกรดเป็น 5 ระดับ คือ G: good ดีเยี่ยม, A: acceptable ยอมรับได้, M: marginal หมิ่นเหม่ และ P: poor แย่มาก

อาการปกติของการชนแบบ Small overlap frontal crash

●  ในช่วงที่ IIHS ประกาศการทดสอบแบบ Small overlap front นั้น พวกเขาตั้งข้อสังเกตุว่า ในเวลาที่มีการชนแบบวิ่งสวนกัน หรือพุ่งเข้าหาเสา ส่วนใหญ่ผู้ขับมักจะมีการหักพวงมาลัยหลบตามสัญชาติญาณ ซึ่งในกรณีที่หลบไม่พ้นนั้น จะทำให้เกิดการชนกันในลักษณะลักลั่น กินพื้นที่น้อย (ประมาณบริเวณไฟหน้าต่อไฟหน้า) ซึ่งแม้จะมีพื้นที่ในการปะทะน้อยกว่า แต่กลับสร้างความเสียหายได้อย่างรุนแรงจนเหลือเชื่อ เนื่องจากพื้นที่ในการกระจายการรับแรงด้านหน้าหรือกันชนทั้งแผงนั้น ไม่สามารถกระจายการซับแรงได้

●  และอาการที่ตามมา หรือจุดอันตรายของการทดสอบแบบนี้คือ “อาการท้ายสะบัดอย่างรุนแรง” ยังผลให้ร่างกายและศีรษะของผู้ขับพุ่งเฉียงเข้าไปหาเสา A โดยที่ถุงลมนิรภัยไม่สามารถรองรับส่วนใดของศีรษะได้เลย

กรณีของ Jeep Wrangler

●  ทว่าในกรณีของ Jeep Wrangler ที่การชนแบบ Small overlap front ได้เพียงเกรด M นั้น IIHS ระบุว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีอาการนี้เกิดขึ้นกับรถทดสอบ นั่นคือเมื่อตัวรถเข้าปะทะกับแบริเออร์ที่จำลองการชน หลังจากที่ด้านหน้าเกิดการยุบตัวจนถึงโครงสร้างห้องโดยสาร ตัวรถกลับมีอาการต่อเนื่องเป็นการยกตัวพลิกคว่ำไปยังฝั่งที่ไม่รับแรงกระแทกโดยตรง (ฝั่งผู้โดยสาร) ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าปกติได้

●  ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนว่า Wrangler มีปัญหานี้จริง เนื่องจากผลการทดสอบในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นภายใต้การทดสอบของ IIHS เท่านั้น แต่จากการทดสอบของ Fiat Chrysler เองภายใต้โปรแกรมการทดสอบด้านความปลอดภัย อาการพลิกคว่ำไปยังฝั่งผู้โดยสารก็เกิดขึ้นเช่นกัน

●  IIHS ระบุว่า หากไม่มีอาการพลิกคว่ำเกิดขึ้นตามมา Wrangler นับว่าทำได้ดีในส่วนของจุดปะทะ (ฝั่งผู้ขับ) การยุบตัวของส่วนหน้าไม่กระทบกับพื้นที่ในห้องโดยสารฝั่งผู้ขับมากนัก และมีการคงรูปทรงได้ดี ในขณะที่อาการเคลื่อนตัวของ dummy ซึ่งจำลองท่าทางของผู้ขับก็เป็นไปตามที่ควร (เช่น ไม่เบี่ยงไปจากตำแหน่งของถุงลมนิรภัย เป็นต้น) ทว่าอาการพลิกคว่ำไปยังฝั่งผู้โดยสารเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ นั่นทำให้ Wrangler ถูกดาวน์เกรดการทดสอบในส่วนนี้ลงมาที่ M

●  จี๊ปน่าจะมีการศึกษาและแก้ไขอาการนี้ต่อไป แต่คงจะต้องเป็นรุ่นไมเนอร์เชนจ์ตามกรอบเวลาการผลิต… อย่างไรก็ตาม ในการทดสอบอีก 4 แบบที่เหลือนั้น Wrangler ผ่านได้ในระดับ G หรือดีเยี่ยมทั้งหมดครับ โดยเฉพาะในส่วนของ Child seat anchors หรือจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กแบบ LATCH (ในสหรัฐฯ เรียก Isofixว่า LATCH) อยู่ในระดับ G+ เลยทีเดียว   ●