June 25, 2017
Motortrivia Team (10019 articles)

เรื่องของเบาะนั่งเด็ก การเลือกซื้อเบาะนั่ง และ ISOFIX

เรื่อง : PandaTrueno

●   ย้อนไปในตอนที่ 3 ผมได้เขียนถึงประเภทของเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ซึ่งมีการแบ่งโดยพิจารณาจากอายุ และแบ่งโดยพิจารณาจากอายุ ประกอบกับผลงานในการทดสอบของหน่วยงานที่น่าเชื่อถือได้ในยุโรป ซึ่งถ้าได้อ่านกันจนถึงตอนที่แล้ว คิดว่าผู้ปกครองหลายท่าน น่าจะมีข้อมูลมากพอในระดับหนึ่ง เพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจ แต่ถ้าถามว่ามากพอหรือยัง… ทาง motortrivia คิดว่ายังไม่มากพอสักเท่าไหร่ หลังจากที่ผู้ปกครองแต่ละท่านตัดสินใจได้แล้วว่า ลูกของตัวเองจะต้องใช้เบาะประเภทไหน ในตอนนี้ลองมาดูกันว่า เราจะต้องพิจารณาในเรื่องไหนประกอบกันอีก

●   ก่อนอื่นต้องบอกเอาไว้เลยว่า ‘เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก’… ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า สำหรับเด็ก ไม่ใช่ สำหรับผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นเวลาซื้อทุกครั้ง ควรนำผู้ที่จะนั่งเดินทางไปเลือกซื้อด้วย เพราะคนที่จะนั่งอยู่กับเบาะคือเด็ก ดังนั้นถ้าคิดจะซื้อโดยยึดเอาความชอบของผู้ใหญ่ ทั้งในเรื่องของรูปแบบ และราคาเป็นหลักแล้ว บางทีอาจจะไม่ถูกใจคนนั่งก็ได้ แล้วเดี๋ยวจะมาเป็นทุกข์เพราะซื้อมาแล้วลูกนั่งไม่ได้

●   ทางที่ดี ควรนำเด็กทดลองให้นั่งดู แล้วพิจารณาดูว่ามีอาการอย่างไร วัสดุที่ใช้หุ้ม สร้างความระคายเคืองกับผิวที่บอบบางของเด็กหรือไม่ หรือนั่งแล้วไม่สบาย

ตัวอย่างของจุดยึดแบบ ISOFIX ที่ติดตั้งอยู่บนเบาะหลังของรถยนต์

●   ในเรื่องการเลือก… เลือกให้สัมพันธ์กับอายุ ขนาดตัวของเด็กถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะเด็กเล็ก เพราะว่าขนาดสรีระของเด็กเล็ก ยังไม่สมส่วน ศีรษะมีขนาดใหญ่กว่าร่างกาย เช่น ศีรษะของเด็ก 9 เดือนจะหนักถึง 25% ของน้ำหนักรวมของตัวเด็ก แถมกระดูกคอ กระดูกหลัง และกระดูกเชิงกรานก็ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ การเลือกเบาะนั่งให้เหมาะสมกับขนาด และวัยสำหรับในเด็กเล็กตั้งแต่ แรกเกิด จนถึง 1 ขวบ จึงสำคัญมาก

●   ราคาเป็นตัวแปรหลักที่ทุกคนให้ความสนใจ จนในบางครั้งมองข้ามความสำคัญของปัจจัยบางอย่างไป เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เบาะนั่งนิรภัยมีราคาสูงนั้น เป็นผลมาจากต้นทุนที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนา ซึ่งบางทีดูแล้ว เบาะนั่งมีวัสดุธรรมดามาก ไม่น่าจะมีราคาเหยียบหมื่น แต่นั่นคือความจริงที่ต้องยอมรับกัน

●   สติกเกอร์ หรือ โบรชัวร์ ที่ระบุถึงมาตรฐานที่เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กรุ่นนั้นๆ ได้รับจากการทดสอบจากหน่วยงานอิสระ ที่น่าเชื่อถือในภูมิภาคนั้นๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่ควรนำมาใช้ในการประกอบการพิจารณา เพราะเท่ากับว่า เบาะนั่งนิรภัยตัวนั้นได้รับการทดสอบจนมีมาตรฐานความปลอดภัยที่เชื่อถือได้

การติดตั้งจุดยึดแบบ ISOFIX ที่แยกต่างหากในรถยนต์ของวอลโว่

●   ในเมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อบวกกับการที่เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ต้องเสียภาษี ราคาจึงแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรียกว่าราคาหน้าเว็บที่เช็คกับราคาหลังสั่งให้ผู้นำเข้าอิสระบางรายนำเข้ามาแตกต่างกันถึงเท่าตัว

●   อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องให้เลือกระหว่างเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กจากยุโรปหรือญี่ปุ่นที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง กับเบาะนั่งจากจีน ที่มีราคาถูกกว่าสักเท่าตัว ตรงนี้ขอยอมจ่ายแพงดีกว่า เพื่อความมั่นใจในคุณภาพและประสิทธิภาพ

●   ของมือสองที่มีการประกาศขายในเว็บไซต์ อาจดูแล้วน่าสนใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เหมือนกับซื้อรถยนต์มือสอง คือ ถ้าดูไม่เป็นก็จะไม่มีทางทราบได้ว่าเบาะนั่งตัวนั้นผ่านการใช้งานมาหนักขนาดไหน ถ้าไม่ได้ซื้อจากคนคุ้นเคยที่รู้มือกันมา น่าจะหลีกเลี่ยงวิธีนี้ดีกว่า

ขาเสียบสำหรับยึด ISOFIX ในเบาะนั่งเด็ก

●   นอกจากนั้น สิ่งหนึ่งที่เจอมากับตัวและมีให้เห็นบ่อยครั้ง คือ คำว่า ISOFIX โดยเฉพาะกับเบาะนั่งสำหรับเด็กแรกเกิด มาจนถึงเบาะแบบ Toddler ส่วนพวก Booster อย่าง Group II/III จะถูกเรียกว่า ISOFIT ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกันแต่เรียกต่างกัน และใช้เข็มขัดนิรภัย 3 จุด เป็นตัวยึดรั้งเด็กเข้ากับเบาะนั่ง

●   ตรงนี้ต้องบอกเลยว่า ให้ลืมไปได้เลย (ทั้งที่จุดยึดประเภทนี้สำคัญมาก) เพราะในบ้านเรา มาตรฐานจุดยึด ISOFIX แทบจะไม่มีให้เห็นในรถยนต์ที่ประกอบในประเทศระดับราคา 1-2 ล้านบาท ซึ่งคนทั่วไปซื้อหามาใช้งาน นอกจากในระดับที่หรูมากๆ (ยกเว้น เชฟโรเลต ลูมิน่า ที่มีติดตั้งมาให้จากโรงงาน) หรือไม่ก็รถอิมพอร์ตจากผู้นำเข้ารายย่อย

●   ดังนั้น เราจึงไม่ต้องใส่ใจกับคำว่า ISOFIX ในการเลือกซื้อก็ได้ เพราะว่าสิ่งที่จะใช้ยึดเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก คือ เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดบนเบาะหลัง ซึ่งเราก็ต้องเลือกซื้อเบาะนั่งรุ่นที่ใช้กับเข็มขัดประเภทนี้

●   แต่ถ้าอยากทราบจริงๆ ว่า ISOFIX คืออะไรก็จะอธิบายให้ฟังครับ

●   ISOFIX เป็นมาตรฐานจุดยึดที่มีติดตั้งในรถยนต์ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น และรวมถึงบ้านเรา (ถ้ามี) หรือบางทีก็ถูกเรียกว่า UCSSS หรือ Universal Child Safety Seat System แต่ในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า LATCH หรือ Lower Anchors and Tethers for Children และในแคนาดาใช้ชื่อว่า Canfix หรือ Luas Lower Universal Anchorage System

สำหรับผู้ผลิตบางรายจะมีแท่นยึด ISOFIX แยกขายสำหรับเบาะนั่งบางรุ่นที่มีเฉพาะรุ่นที่ใช้กับเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด

●   ทั้งหมดแม้ว่าจะเป็นรูปแบบของระบบการยึดเบาะนั่งเด็ก แต่ถ้ามองในรายละเอียดจริงๆ แล้ว จะพบกับความแตกต่าง ในเรื่องของชิ้นส่วนในการยึดรั้ง อย่างระบบ LATCH จะมีลักษณะคล้ายกับ สมอบก สำหรับยึดด้านบนของตัวเบาะ ส่วนที่ยึดด้านล่าง จะเป็นหูเกี่ยวคล้ายกับตะขอของพวกนักปีนเขา

●   ดังนั้น คนที่ซื้อเบาะนั่งจากฝั่งสหรัฐอเมริกา ควรดูรายละเอียดให้ดีว่านอกจากการใช้กับระบบ LATCH แล้ว เบาะนั่งเหล่านี้สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด ยึดรั้งตัวเบาะได้หรือไม่ ซึ่งนั่นก็รวมถึงเบาะที่ใช้กับจุดยึด ISOFIX ด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้ว เชื่อว่าน่าจะใช้ได้กับทั้ง ISOFIX / LATCH และเข็มขัดขัดนิรภัยแบบ 3 จุด เพราะบางรุ่นออกแบบให้ขาเกี่ยวของจุดยึด สามารถหดเข้ามาเก็บได้… เพียงแต่ว่าจะจ่ายแพงไปทำไม

●   ส่วนบางรุ่นถูกออกแบบมาใช้กับเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้กับรถยนต์แบบมี ISOFIX ไม่ได้ เพราะบางยี่ห้อจะมีชุดติดตั้ง ISOFIX เข้ากับตัวเบาะเพื่อใช้กับรถยนต์ที่มีจุดยึด ISOFIX แยกขายต่างหาก

●   ISOFIX เป็นมาตรฐานของ International Organisation for Standardisation โดยเป็นมาตรฐานสำหรับหัวข้อ ISO 13216-1 เกี่ยวกับเรื่องของการยึดรั้งในตัวรถ และก็รวมถึงเบาะนั่งเด็กใน Group I ซึ่งตรงตัวเบาะบางรุ่น จะถูกออกแบบให้มีแท่งยาวๆ อยู่ตรงด้านล่างฝั่งซ้ายและขวาของตัวเบาะ

●   วิธีใช้ก็… เสียบแท่งนี้เข้ากับตัวล็อกของระบบที่ติดตั้งมาจากโรงงานในรถยนต์ และตรงด้านบนของตัวเบาะนั่งนิภัยของเด็ก ก็จะมีการยึดรั้งด้วยสายคาด ซึ่งติดตั้งอยู่ตรงแผงลำโพงด้านหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้เบาะหน้าคะมำไปทางด้านหน้าในกรณีที่เกิดการชน

(ซ้าย) รูปแบบของระบบ LATCH ที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา (ขวา) โครงสร้างภายในเบาะนั่งที่มีระบบ ISOFIX

●   จุดประสงค์ของการออกแบบ ISOFIX คือ วิธีที่สะดวกและถูกต้อง ในการติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยเด็กเข้ากับตัวรถ เพราะแค่เสียบเข้ากับช่อง ISOFIX บนเบาะก็เสร็จแล้ว เพราะก่อนที่จะมีการออกแบบตัวยึดนี้ มีการเซอร์เวย์ และพบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ ติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ‘ไม่ถูกต้อง’ และการยึดรั้ง โดยใช้เข็มขัดนิรภัย 3 จุดของตัวรถยังไม่แน่นหนาพอ เพราะเข็มขัดสำหรับรถยนต์บางรุ่น อาจจะสั้นกว่า หรือยาวกว่าบางรุ่น

●   ส่วนใหญ่แล้ว จากการสำรวจของ The German Insurance Institute GDV พบว่ามีเพียง 30% เท่านั้น ที่ผู้ปกครอง ติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก กับเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดของตัวรถ ได้อย่างถูกต้อง ขณะที่จุดยึด ISOFIX พบว่ามีการติดตั้งถูกต้องถึง 96% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความง่ายของระบบในการใช้งาน

●   อีกทั้งในคู่มือประจำรถหรือของเบาะนั่งเด็ก ผู้ผลิตมักแนะนำ ให้ยึดเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กเข้ากับ ISOFIX จะดีกว่า เพราะจากการที่จุดยึด ISOFIX ยึดเข้ากับตัวถังของตัวรถ ทำให้มีความหนาแน่นกว่า (ตรงนี้ในบ้านเราต้องทำใจ) ลดการเคลื่อนตัวทั้งพุ่งไปข้างหน้า หรือออกทางด้านข้างได้เป็นอย่างดี

●   ขณะที่ในยุโรป นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2006 รถยนต์ใหม่ทุกรุ่น จะต้องติดตั้ง ISOFIX พร้อมกับ Top Tether หรือ สมอ สำหรับยึดรั้ง ด้านบนของเบาะนั่งเด็ก มาจากโรงงาน และในปี 2011 รถยนต์ทุกคันที่วิ่งบนถนนจะต้องติดตั้ง ISOFIX ขณะที่ของอเมริกา บังคับให้มี LATCH ในรถยนต์ใหม่ทุกคันมาตั้งแต่ปี 2002 โน่นแล้ว

●   น่าสงสารเด็กๆ ในบ้านเราจริงๆ   ●


ตอนที่ 1 : จริงหรือที่เบาะนิรภัยสำหรับเด็กแพง?.
ตอนที่ 2 : เบาะเด็กหันหน้าหรือหันหลังดีกว่ากัน?.
ตอนที่ 3 : มารู้จักกับประเภทของ Child Car Seat กัน.
ตอนที่ 4 : ซื้อให้ถูกต้องติดตั้งให้ถูกด้วย (ตอนจบ).
ตอนที่ 5 : ตอนแถม… การเลือกซื้อเบาะนั่ง และ ISOFIX.