July 1, 2020
Motortrivia Team (10210 articles)

Revo Rocco 4×4 2.8 AT นุ่มนวลเหมาะโดยสาร แต่ไม่ทิ้งงานลุย

เรื่อง-ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ

●  หลังจากได้สัมผัสตัวจริงไปแล้ว 2 ครั้ง ในงานเปิดตัว และ ทดลองขับที่ Toyota Driving Experience หรือ TDEX ไปเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ล่าสุดทีมงานมอเตอร์ทริเวียก็มีโอกาสได้ทดลองขับ ไฮลักซ์ รีโว่ ร็อคโค่ รุ่นท๊อป 4 ประตู ขับเคลื่อน 4 ล้อ เกียร์อัตโนมัติ อย่างเต็มอิ่ม เรื่องสมรรถนะได้ลองกันไปแล้วใน TDEX คราวนี้จึงเน้นไปที่การใช้งานในชีวิตประจำวันว่าจะรองรับได้ดีแค่ไหน และลุยทางฝุ่นเบาๆ ให้สมกับประเภทรถ

ภายนอกแกร่งเนี๊ยบลงตัว

●  เสริมความดุดันสไตล์ตัวลุยด้วยกระจังหน้าสีเทาเข้ม แซมด้วยโครเมียมและสีเทาเมทัลลิก ประกบด้วยไฟหน้า Bi-Beam LED เปิด-ปิด และปรับระดับสูง-ต่ำอัตโนมัติ พร้อมระบบ Follow-me-home โป่งล้อหน้าสีเดียวกับกระจัง ออกแบบให้ต่อเนื่องเป็นส่วนเดียวกับช่องใส่สปอตไลต์ แซมด้วยสีเทาเมทัลลิก

●  ด้านข้างเน้นอารมณ์ลุยๆ ด้วยบันไดและที่เปิดประตูสีเทาเข้ม กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยว ปรับทิศทางและพับด้วยไฟฟ้า ตัวกรอบกระจกขนาดเล็กไปหน่อยและดูเพรียวไปนิด เมื่อเทียบกับตัวรถคันใหญ่ล่ำ แต่ไม่มีปัญหาเรื่องมุมมอง สะดุดตาด้วยสปอร์ตบาร์ทรงสวยเรียบๆ ตกแต่งด้วยสีเมทัลลิกเข้าชุดกับโป่งล้อหลัง มาพร้อมไฟ LED 3 จุด ที่ขอบกระบะซ้าย-ขวา และใต้สปอร์ตบาร์บริเวณเหนือกระจกบานหลัง มีสวิตช์ปิด-เปิดอยู่ที่ขอบกระบะ ทำงานเฉพาะเมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ ป้องกันการลืมปิดไฟ

●  ล้อแม็กลายแกร่งขนาด 18 นิ้ว เฉพาะรุ่น ROCCO พร้อมยางตัวหนังสือสีขาว White Letters ขนาด 265/60R18 ชุดไฟท้าย LED Light Guiding กันชนสีเมทัลลิก ชุดตกแต่งมือเปิดฝาท้ายกระบะสีดำ มีไฟเบรกดวงที่ 3 และกล้องมองหลังในตัว ฝาท้ายติดตั้งตัวช่วยผ่อนแรงทั้งตอนเปิดและปิด เป็นเหล็กแท่งสปริงคล้ายทอร์ชั่นบาร์ ลองใช้งานแล้วช่วยได้เยอะจริงๆ

●  ชุดแต่ง ROCCO ถ้าอยู่ในรถสีสว่างก็จะมองเห็นได้ชัด สีตัดกันดูสวยงาม แต่ถ้าเป็นรถสีเข้มจะให้อารมณ์ลุยๆ คันที่ทดลองขับเป็นสีใหม่ Emotional Red II ที่ตอนแรกคิดว่าสีแดงไม่น่าเหมาะกับรถประเภทนี้ แต่พอเห็นตัวจริงแล้วสวย ขับได้แบบไม่เคอะเขิน ถ่ายรูปขึ้น รูปลักษ์ภายนอกโดยรวมดูแข็งแกร่งมีพลังสมกับประเภทรถ รูปร่างดูสมส่วน ท้ายรถยกนิดๆ เป็นเรื่องปกติเพื่อรองรับการบรรทุก

●  มิติตัวรถมีความยาว 5,325 มิลลิเมตร กว้าง 1,900 มิลลิเมตร สูง 1,815 มิลลิเมตร ฐานล้อ 3,085 มิลลิเมตร ความกว้างล้อหน้าหลัง 1,540/1,550 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุด 217 มิลลิเมตร

ห้องโดยสารทันสมัยอุปกรณ์หลักมีครบ

●  เข้าออกสะดวกสบายด้วยระบบ Smart Entry กดปุ่มที่มือเปิดประตูเพื่อล็อกและปลดล็อก และ Push Start กดปุ่มเพื่อสตาร์ทและดับเครื่องยนต์ มาพร้อมกุญแจรีโมท Smart Key เฉพาะรุ่น ROCCO การตกแต่งภายในเป็นแบบที่ชอบเป็นการส่วนตัวคือ ดำล้วนตั้งแต่เบาะถึงเพดาน เพราะดูแลรักษาง่าย เหมาะกับรถประเภทลุยๆ หรือรถครอบครัวที่มีโอกาสเปรอะเปื้อนได้ง่าย

●  แผงคอนโซลผสมกันระหว่างพลาสติกแข็งฉีดขึ้นรูปกับการบุด้วยวัสดุที่อ่อนนุ่ม แซมด้วยการตกแต่งสีเงินแบบ Hairline และโครเมียมรมดำ ต่อเนื่องไปถึงแผงประตูทั้ง 4 บาน มาพร้อมไฟ Ambient Light ที่แผงประตู มุมแผงคอนโซลซ้าย-ขวามีที่วางแก้วน้ำแบบเก็บได้ 2 ตำแหน่ง สำหรับผู้ขับและผู้โดยสารด้านหน้า คอนโซลกลางติดตั้งจอสัมผัสขนาด 8 นิ้ว แบบ Capacitive พร้อมระบบ T-Connect รองรับระบบ Apple CarPlay พร้อมวิทยุ AM/FM พร้อมช่องเชื่อมต่อ USB ระบบเชื่อมต่อ Bluetooth รองรับโทรศัพท์และการเล่นเพลง ลำโพง 6 ตำแหน่ง

●  ถัดลงมาเป็นสวิตช์ควบคุมระบบปรับอากาศ ช่องเชื่อมต่อ USB และจ่ายไฟฟ้า 12 โวลต์ สวิตช์ควบคุมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่หน้าตาดูเชยไปนิดเพราะยังเป็นแบบหมุน มีช่องวางแก้วน้ำและที่ใส่ของ คอนโซลเกียร์ตกแต่งด้วยสีดำเงา เข้าชุดกับที่คอนโซลกลางและที่เท้าแขนบนแผงประตู ข้างคันเกียร์มีปุ่มเลือกโหมดการขับ ที่เท้าแขนระหว่างเบาะหน้าเป็นที่เก็บของขนาดใหญ่พึ่งพาได้ มีปลั๊กจ่ายไฟฟ้า 220 โวลต์ เบรกมือแบบกลไก ไม่ใช่ไฟฟ้า คอนโซลฝั่งผู้โดยสารด้านหน้ามีลิ้นชักเก็บของ และช่องเก็บของด้านบนพร้อมฝาปิดแบบ Cool Box รักษาความเย็น

●  มาตรวัดเรืองแสงแบบ Optitron สีฟ้า เฉพาะรุ่น ROCCO พร้อมจอแสดงข้อมูลการขับ (MID) จอสีแบบ TFT ควบคุมด้วยปุ่มบนพวงมาลัยที่เป็นแบบมัลติฟังก์ชั่น หุ้มหนังตกแต่งด้วยสีดำเมทัลลิก ปรับได้ 4 ทิศทาง สูง-ต่ำ-ใกล้-ไกล เบาะผู้ขับปรับทิศทางด้วยไฟฟ้า ระยะการปรับค่อนข้างเยอะและปรับได้ละเอียด ช่วยให้ปรับเบาะในท่านั่งที่ถูกต้องได้ง่าย เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าปรับสูง-ต่ำได้

●  คนขี้ลืมน่าจะชอบระบบเซ็นทรัลล็อกแบบ Speed Auto Lock ล็อกอัตโนมัติเมื่อความเร็วถึงประมาณ 15-20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กระจกไฟฟ้าแบบ One Touch พร้อมระบบป้องกันการหนีบทั้ง 4 บาน แอบเคืองเล็กน้อยที่กระจกมองหลังปรับลดแสงสะท้อนแบบต้องใช้มือโยก ไม่ใช่อัตโนมัติ

●  เบาะหลังมีที่เท้าแขนแบบพับเก็บได้พร้อมที่วางแก้วน้ำ มีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลังอยู่ที่ด้านหลังของที่เท้าแขนกลางเบาะหน้า ถ้าพนักพิงเอนกว่านี้ 2-3 องศา น่าจะนั่งสบายสุดๆ ตัวเบาะรองนั่งแยกพับได้แบบ 60:40 ดึงเชือกที่ใต้เบาะนั่งเพื่อปลดล็อกแล้วยกตัวเบาะนั่งขึ้นไปแนบกับพนักพิง ใช้เชือกคล้องกับขาหมอนรองศีรษะด้านหลัง เปิดพื้นที่สำหรับขนของที่มีความสูงแต่ไม่อยากวางไว้ที่กระบะหลัง พื้นใต้เบาะหลังมีช่องเก็บของพร้อมฝาปิด ใส่ของได้อีกเล็กน้อย

●  ระบบความปลอดภัยให้มาครบทั้งแอร์แบ็ก 7 ตำแหน่ง คู่หน้า ด้านข้าง ม่านนิรภัย และแอร์แบ็กหัวเข่าผู้ขับ สัญญาณเตือนกะระยะด้านท้ายและมุมกันชนหน้า-หลัง พร้อมกล้องมองหลังมีเส้นกะระยะ ระบบความปลอดภัยก่อนการชน PCS เมื่อระบบตรวจพบว่าอาจมีการชน จะเตือนให้แตะเบรกก่อน ถ้าผู้ขับยังไม่ตอบสนอง ระบบ BA Brake Assist จะทำงาน และเมื่อหลีกเลี่ยงการชนไม่ได้ ระบบเบรกจะทำงานอัตโนมัติ ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลน พร้อมดึงพวงมาลัยกลับอัตโนมัติ LDA ทดลองใช้แล้วกล้องจับเส้นถนนได้ดี แม้เส้นถนนจะจางไปบ้างก็ยังทำงานได้ การดึงกลับทำแบบเบาๆ ไม่น่าตกใจ และมีการชลอความเร็วให้เล็กน้อยด้วย

●  ระบบปรับลดความเร็วอัตโนมัติ (Dynamic Radar Cruise Control) ลดความเร็วตามคันหน้า สามารถปรับระยะห่างได้ เรดาร์มีความแม่นยำตรวจเจอมอเตอร์ไซค์ การลดความเร็วเพื่อเว้นระยะห่างจากคันหน้า ทำได้อย่างนุ่มนวล ถ้าความเร็วไม่แตกต่างกันจนเกินไปหรือถูกตัดหน้า การเร่งความเร็วเพิ่มให้ได้ตามที่ตั้งไว้เมื่อไม่มีรถคันหน้า จะเร่งค่อนข้างเร็ว ยังไม่เนียนเท่าการกดคันเร่งเองในกรณีที่ต้องการความประหยัด

●  ห้องโดยสารโดยรวมถือว่าทำได้ดี ทั้งการตกแต่งในโทนสีดำ การออกแบบแผงคอนโซล และส่วนประกอบต่างๆ รวมทั้งการติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐาน ที่แม้จะมีบางอย่างไม่ได้อย่างใจไปบ้าง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับราคารถ แต่สำหรับการใช้งานทั่วไปแล้ว ไม่ถือว่าไม่กระทบกับความสะดวกสบายแต่อย่างใด การเก็บเสียงและแรงสั่นสะเทือนทำได้ดี ได้ยินเสียงและแรงสั่นสะเทือนจากเครื่องยนต์แค่แผ่วๆ รวมทั้งเสียงยางที่ค่อนข้างเงียบ (ส่วนหนึ่งเพราะลวดลายของดอกยางด้วย) ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป เริ่มมีเสียงลมปะทะบ้าง

204 แรงม้า 500 นิวตันเมตร

●  เครื่องยนต์รหัส 1GD-FTV (High) ดีเซลไดเร็คอินเจ็คชั่นแบบคอมมอนเรล (แบบ i-ART) 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว VN Turbo และอินเตอร์คูลเลอร์ ความจุ 2,755 ซีซี กระบอกสูบ 92.0 มิลลิเมตร ช่วงชัก 103.6 มิลลิเมตร อัตราส่วนการอัด 15.6:1 กำลังสูงสุด 150 กิโลวัตต์ หรือ 204 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร ที่ 1,600-2,800 รอบต่อนาที ถังน้ำมันจุ 80 ลิตร รองรับ B20 ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อมโหมด +/- ที่โตโยต้าเรียกว่า Sequential Shift ขับเคลื่อน 4 ล้อ พร้อม Differential Lock ที่เฟืองท้าย

●  อย่างแรกที่สัมผัสได้ชัดเจน คือ ความเงียบของเครื่องยนต์ทั้งนอกรถและในรถ แม้จะไม่เงียบเท่ารถยุโรปที่ราคาสูงกว่านี้กว่าเท่าตัว แต่ก็เงียบในระดับที่น่าพอใจ เมื่อนั่งในห้องโดยสาร นอกจากความเงียบแล้ว ยังรู้สึกได้ว่ารถมีความสั่นสะเทือนน้อย ขับใช้งานได้อย่างนุ่มนวลและผ่อนคลาย การตอบสนองที่ความเร็วต่ำทำได้ทันใจ น่าจะเพราะเป็นรุ่น 4 ประตู เน้นโดยสารมากกว่างานบรรทุก จึงไม่ต้องทดเกียร์ 1 ไว้เผื่อสำหรับออกตัวเมื่อบรรทุกหนัก ทำให้เกียร์ 1 ลากได้ยาว การเร่งออกตัวจึงต่อเนื่อง ใช้งานในเมืองได้สบายไม่อึดอัด

●  ลองขับทางไกลเพื่อไปถ่ายรูป ใช้ความเร็วปกติ 90-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไล่ความเร็วได้อย่างไหลลื่น เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ โอเวอร์ไดรฟ์หรืออัตราทดต่ำกว่า 1.000 ตั้งแต่เกียร์ 5 ส่วนเกียร์ 6 ก็ช่วยลดรอบลงอีกนิด ขับเรื่อยๆ แทบไม่ได้ยินเสียงหรือความสั่นสะเทือนจากเครื่องยนต์ เกียร์เปลี่ยนนุ่มนวล ส่วนความฉับไวและต่อเนื่องอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย ลองกดคันเร่งคิ๊กดาวน์ เสียงเครื่องยนต์ดังขึ้นบ้าง แต่ไม่ดึงกับลั่น กดคันเร่งอมๆ ไว้ไม่ถึงกับขยี้สุด แค่ไม่นานก็ทำความเร็วแตะ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตัวเครื่องยนต์เองตอบสนองได้ดี แรงม้าและแรงบิดเหลือเฟือสำหรับการใช้งาน ส่วนการลุยหนักๆ ก็มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ มาช่วยเพิ่มแรงบิดจากอัตราทดเกียร์ ข้อจำกัดในการลุยจึงน่าจะอยู่ที่ประเภทของยาง ไม่ใช่กำลังของเครื่องยนต์ ส่วนระบบส่งกำลังน่าจะเซตมาให้นุ่มนวลขับสบายเป็นหลัก ความฉับไวในการเปลี่ยนเกียร์จึงไม่ใช่จุดเด่น

●  ออกเดินทางตั้งแต่เช้าเพื่อหลบรถติด ขับชิลๆ ตามสไตล์ แต่ไม่ได้ปั้นตัวเลข บันทึกผลจากหน้าจอของรถ ระยะทางขับ 93.8 กิโลเมตร ความเร็วเฉลี่ย 61 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 14.1 กิโลเมตรต่อลิตร ขับอีก 3-4 วัน ในเมืองแต่ทางโล่ง ก็อยู่ในช่วง 12-13 กิโลเมตรต่อลิตร ใช้งานจริงเฉลี่ยในเมืองและนอกเมือง น่าจะเห็นตัวเลข 2 หลัก 10-12 กิโลเมตรต่อลิตร

●  เครื่องยนต์โดยรวมตอบสนองดี ขับในเมืองได้คล่องไม่อึดอัด ออกต่างจังหวัดเร่งแซงทันใจ ดึงนุ่มๆ คุมง่าย ไม่น่าบ่นว่าอืดถ้าไม่คาดหวังกับตัวเลขแรงม้าแรงบิดมากนัก เพราะแม้เป็นกระบะ 4 ประตู แต่อัตราทดเกียร์และเฟืองท้าย ก็ยังต้องเผื่อสำหรับงานบรรทุกมากกว่าการใช้ความเร็วสูง อัตราสิ้นเปลืองอยู่ในเกณฑ์รับได้ เป็นไปตามลักษณะการขับและสภาพการจราจร ทางโล่งขับไม่เร็วจัดก็ประหยัดพอสมควรแล้วสำหรับรถคันใหญ่สูงต้านลม

ช่วงล่างนุ่มไปนิด เบรกหยุดมั่นใจ

●  ระบบกันสะเทือนตามมาตรฐานรถกระบะ ด้านหน้าอิสระปีกนกคู่ คอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง ด้านหลังคานแข็งแหนบซ้อน 3 แผ่น วัสดุ High-Tensile Steel มาพร้อมระบบช่วยเหลือครบครัน ทั้งระบบควบคุมการทรงตัว VSC ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC แบบ A-TRC ระบบควบคุมการส่ายของส่วนพ่วงท้าย TSC ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน DAC และระบบป้องกันการออกตัวฉุกเฉิน DSC

●  ช่วงล่างเซตมานุ่มนวลขับสบายทั้งทางเรียบและทางลุย ยาง 265/60R18 ดูดซับแรงสะเทือนได้ดี เหมาะกับสภาพเส้นทางที่ไป สภาพผิวถนนค่อนข้างแย่ ช่วงที่เป็นยางมะตอยก็มีหลุมบ่อ ช่วงคอนกรีตก็มีรอยต่อถนนที่ค่อนข้างโหดและมีร่องแตกร้าว ขับด้วยความเร็วเดินทางได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องหลบหลุม รถสูง มองได้ไกล และให้ความรู้สึกปลอดภัยเมื่อขับบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยรถบรรทุกและรถพ่วง

●  ช่วงล่างยังคงความดีถ้าขับไม่เร็วจัดจ้าน แต่ถ้าใช้ความเร็วสูงกับผิวถนนที่เป็นคลื่นลอนต่อเนื่อง อย่างการขับเลนขวาใต้ทางยกระดับ หรือเจอกับคอสะพานทรุดโหดๆ จะรู้สึกว่าอยากให้ช่วงล่างหนึบหนืดกว่านี้อีกนิด โดยเฉพาะช็อคฯ หน้า ซึ่งมีเครื่องยนต์วางอยู่ เมื่อตัวรถมีการยืดยุบตัวอย่างต่อเนื่อง หรือยุบสุดสโตรกเมื่อขับผ่านคอสะพานที่ทรุด ช่วงยืดคืนตัวจะยืดยุบหลายครั้งกว่าจะนิ่ง แก้ไขแบบไม่เสียเงินด้วยการลดความเร็วลงหน่อย หรือไม่ก็เปลี่ยนช็อคฯ ที่หนืดขึ้น จะได้หยุดการยืดยุบให้เร็วที่สุด และหน่วงการยืดยุบเป็นไปอย่างช้าๆ นอกจากเสียเงินแล้วก็ต้องเสียความนุ่มนวลไปบ้าง แลกกับความหนักแน่นขึ้นก็น่าจะคุ้มสำหรับคนที่ขับรถเร็ว

●  ที่น่าชื่นชมคือ ระบบเบรกหน้าดิสก์มีครีบระบายความร้อน ด้านหลังดรัมเบรก มาพร้อมตัวช่วยมาตรฐานอย่าง ABS ป้องกันล้อล็อก, EBD ระบบกระจายแรงเบรก และระบบเสริมแรงแบรก BA เบรกได้หนักแน่นมั่นใจ ควบคุมแรงเบรกได้ง่าย พวงมาลัยแร็คแอนด์พิเนียนพร้อมพาวเวอร์แบบ VFC หรือ Variable Flow Control รู้สึกว่าพวงมาลัยหนักกว่าเดิมตั้งแต่ทดลองขับที่ TDEX มาลองใช้งานจริงก็รู้สึกว่าหนักไปนิดที่ความเร็วต่ำ การดิ้นโยกในที่คับแคบ ต้องออกแรงกันหน่อย ส่วนที่ความเร็วสูงก็หนักแน่นดี ความแม่นยำอยู่ในระดับปกติของรถกระบะ การหมุนและคืนพวงมาลัยทำได้ต่อเนื่องคงเส้นคงวา มีหน้าจอแสดงมุมล้อที่จอกลางมาตรวัด ป้องกันการหลงทิศพวงมาลัยเมื่อขับแบบออฟโรด

●  ไฮลักซ์ รีโว่ ร็อคโค่ ดับเบิ้ล แค็บ ขับเคลื่อน 4 ล้อ 2.8 เกียร์อัตโนมัติ ภายนอกสวยดุแตกต่างเฉพาะรุ่น ขับนุ่มใกล้เคียงเอสยูวี และยังรองรับงานบรรทุกได้ การตกแต่งและอุปกรณ์มาตรฐานครบครัน ภายในกว้างขวาง สะดวกสบายพอสมควร เครื่องยนต์แรงทันใจแต่นุ่มนวลขับง่าย ประหยัดแค่ไหนอยู่ที่เท้าขวาและสภาพการจราจร ช่วงล่างเซตมานุ่มเพื่อการโดยสาร ลุยทางโหดได้ด้วยระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ราคา 1,239,000 บาท ไม่แพงถ้าแน่ใจว่าใช้สมรรถนะของรถได้คุ้ม   ●

Test Drive : 2020 Toyota Hilux Revo Rocco Double Cab 4×4 2.8 AT