Child safety seat ตอนที่ 1 : จริงหรือที่เบาะนิรภัยสำหรับเด็กแพง?
เรื่อง : PandaTrueno
● บอกตามตรงเลยว่า….ผมค่อนข้างรู้สึกขัดใจไม่น้อยเวลาที่ได้ยินคนพูดว่า ‘เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ Car Seat หรือ Child Seat มีราคาแพงเกินไป’ แล้วยิ่งขัดใจมากขึ้นไปอีก เมื่อได้เห็นภาพของรถใหม่ป้ายแดง ใส่ล้อ 18 นิ้ว(ไม่ว่าจะเป็นล้อนำเข้ามือสอง หรือว่าของปลอมก็แล้วแต่) แถมทั้งคันยังแบกสปอยเลอร์มาจนเต็ม แต่ทว่าเจ้าหนูน้อยกลับต้องนั่งอยู่บนตักแม่ หรือไม่ก็ยืนอยู่ด้านหลังเกาะเบาะนั่งด้านหน้า หรือซ้ำร้ายไปนั่งอยู่บนตักคุณพ่อตอนขับรถ
● บ้านเรามักจะมองข้ามเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางกันอยู่เสมอ และมากยิ่งขึ้น เมื่อพูดถึงเรื่องความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ในขณะที่ต้องเดินทาง… คงประมาณว่า ‘ยังเด็กอยู่ มีอะไรก็ใช้ไปเถอะ’
● อะไรที่ไม่จำเป็น (ในมุมมองส่วนตัว) ก็มักจะถูกมองว่าเป็นของที่มีราคาแพงเสมอ และเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ก็คงเข้าข่ายทำนองนี้สำหรับผู้ปกครองส่วนใหญ่ ทั้งที่ตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับเด็ก เวลาที่ต้องเดินทางไปไหนมาไหนอยู่ในรถ
● เพราะเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กเปรียบเทียบง่ายๆ ก็เหมือนกับเข็มขัดนิรภัย ที่ถูกออกแบบมาเพื่อความเหมาะสม สำหรับสรีระเล็กๆ ของเด็ก ซึ่งยังเติบโตไม่เต็มที่ในด้านของสรีระและไม่สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยที่ติดตั้งมากับตัวรถ (ซึ่งออกแบบตามขนาดสรีระของผู้ใหญ่ที่โตเต็มวัย) ได้ การยึดรั้งเด็กเอาไว้กับเบาะจึงมีความปลอดภัยทั้งกับตัวเด็กเอง และผู้ที่อยู่ในห้องโดยสาร เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว เด็กจะถูกกระแทกไปตามแรงเฉื่อยที่เกิดขึ้น และน้ำหนักของเด็ก ก็จะเพิ่มขึ้นตามกฎของฟิสิกส์
● ถ้าไม่คิดถึงเรื่องความปลอดภัยของตัวเด็กเอง อย่างน้อยการมัดเด็กเอาไว้กับเบาะนั่งนิรภัย ก็จะช่วยในเรื่องการลดการรบกวนสมาธิในขณะขับของคุณ เพราะความวุ่นวานของเจ้าตัวเล็กได้ไม่มากก็น้อย
● แน่นอนว่าในยุคนี้ที่เศรษฐกิจตกสะเก็ดกันถ้วนหน้า ค่าตัวของเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กในระดับพันปลายๆ จนถึงหมื่นกลางๆ หรืออาจจะเกิน 2 หมื่นสำหรับบางยี่ห้ออาจทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่า ‘แพง’ แต่จะเพิ่มระดับเป็น ‘แพงบรรลัย’ สำหรับผู้ปกครองที่มองไม่เห็นความจำเป็นของมัน
● ถ้าคิดตามหลักการแบบเข้าข้างตามความคิดของตัว (ผม) เองแล้ว กับคนที่มีความสามารถในการซื้อรถสักคัน ซึ่งอาจจะใหม่ป้ายแดงหรือมือสอง อย่างน้อยก็น่าจะมีฐานะทางการเงินที่ดีในระดับหนึ่ง และการที่จะต้องควักเงินสักก้อนเพื่อความปลอดภัยของ ‘แก้วตาดวงใจ’ ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก ทั้งที่บางคน พอขับออกจากโชว์รูมแล้วก็พุ่งตรงไปที่ร้านประดับยนต์ทันที และพร้อมยอมเสียกับเงินค่าเครื่องเสียงหรือชุดแต่งเป็นแสนๆ
● ตรงนี้ทำให้ผมเกิดความรู้สึกว่า จริงๆ แล้ว มันแพงอย่างที่คิดเพราะตัวมันเอง หรือว่าแพงเพราะคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ ‘ไม่เห็นประโยชน์ที่แท้จริง’ กันแน่?
● จริงอยู่ที่ว่าราคาในระดับหลักพันและหมื่น ย่อมมีค่าไม่เท่ากันในด้านความรู้สึกของแต่ละคน แต่ก็ไม่ถึงกับ ‘แพงจนเกินเอื้อม’ สำหรับคนส่วนใหญ่ที่มีรถขับ โดยเบาะนั่งเด็ก ถ้าพูดถึงของที่มีคุณภาพจากฝั่งยุโรปหรือญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งของความแพงมาจากต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อความปลอดภัย และยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อเข้ามาขายในบ้านเราหลังจากโดนภาษีที่ทางภาครัฐไม่เอื้ออำนวย เพราะเก็บในเรตเดียวกับพวกอุปกรณ์ตกแต่ง
● แน่นอนว่า ตรงนี้เป็นการจ่ายเงินก้อนใหญ่ แต่ตัวเบาะก็สามารถใช้ได้นาน อย่างน้อยก็เกิน 1 ปีในแต่ละลำดับขั้นของเบาะแต่ละประเภท ซึ่งในกรณีของเด็กแรกเกิด เบาะนั่งสำหรับเด็กขนาดนี้ ราคาโดยเฉลี่ยจะอยู่ในระดับพันปลายๆ ถึงหมื่นต้นๆ และอายุการใช้งานก็ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 15 เดือน หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 2 ปีก็ต้องเปลี่ยนกันใหม่ จากนั้นก็ใช้กันยาวเมื่อเปลี่ยนมาเป็นเบาะนั่งสำหรับเด็กที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป เพราะถ้าเลือกรุ่นดีๆ แล้ว เบาะนั่งสำหรับเด็กในช่วงนี้สามารถใช้ได้ยาวหลายปีเหมือนกัน
● อย่างในกรณีของผม มาเริ่มเดินทางกันอย่างจริงจังทั้งครอบครัวในช่วงขวบกว่าๆ ก็เลยยอมควักเงิน 16,000 บาท (ราคาพอๆ กับยาง 17 นิ้วแบบมียี่ห้อชุดนึง) กับเบาะนั่งนิรภัยยี่ห้อ R โดยนั่งอ่านรายละเอียดและศึกษาเบาะนั่งรุ่นนี้มานานและค้นพบถึงความคุ้มค่าในการใช้งาน (ทั้งความจริงเบาะนั่งรุ่นนี้มีราคาขายในยุโรปหลังคำนวนเป็นเงินไทยแล้วประมาณ 8,000 บาทเท่านั้น แต่เมื่อโดนค่านำเข้าและภาษีเข้าไปแล้ว ราคาก็เลยขยับมาเป็นเท่าตัว)
● เพราะตัวเบาะสามารถใช้ได้กับเด็กตั้งแต่ 9 เดือนจนถึง 12 ขวบเลยทีเดียว หรือถ้าคิดตามน้ำหนักแล้วรองรับได้ตั้งแต่ 9-36 กิโลกรัม โดยที่ตัวเบาะสามารถถอดแต่ละชิ้นส่วนออกเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานให้เหมาะสมกับร่างกายของเด็กที่โตขึ้นเรื่อยๆ
● ว่ากันตามจริงแล้ว ถ้าไม่โลภมาก เมื่อโตขึ้น ลูกผมไม่อ้วนจนเกินไป อายุสัก 5-6 ขวบก็น่าจะยังใช้งานได้อยู่ โดยถอดเข็มขัดนิรภัยแบบ 5 จุดออก และใช้เข็มขัดนิรภัยของเบาะหลังเป็นตัวรัดสรีระของลูกผมเข้ากับเบาะนั่งนิรภัยแทน ซึ่งตรงนี้สามารถทำได้โดยไม่เกิดอันตราย เพียงแต่ว่าระดับประสิทธิภาพในการยึดรั้งร่างกายอาจจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เข็มขัดแบบ 5 จุดของเดิมซึ่งเหมาะสำหรับเด็กอายุ 2-4 ขวบ หรือน้ำหนักสูงสุดไม่เกิน 18 กิโลกรัม
● เอาเป็นว่าไม่ต้องฝืนใช้ให้นานถึงขนาดนั้นก็ได้ แค่ 2 ปีเปลี่ยนครั้งหนึ่งก็แล้วกัน แล้วก็คิดตามหลักที่พวกขายประกันชีวิตหรืออุบัติเหตุมักจะใช้ในการชักจูงลูกค้า ก็จะพบว่า จำนวน 2 ปี หรือ 730 วันเมื่อนำมาหารกับเงินก้อนจำนวน 16,000 บาทแล้วจะพบว่า ผมจ่ายเงินแค่วันละ 21.9 บาทเท่านั้นสำหรับเป็นค่าความปลอดภัยในการเดินทางให้กับลูก
● จริงอยู่ที่ว่าเบาะนั่งอาจไม่ได้ใช้ทุกวันในช่วงที่ลูกผมอายุ 2-3 ขวบ เพราะส่วนใหญ่จะอยู่บ้านมากกว่าออกไปไหนมาไหน แต่ถ้าคิดเฉพาะช่วง 1 ปีในอายุ 3-4 ขวบที่เธอต้องเดินทางไปโรงเรียนทุกวัน และเสาร์-อาทิตย์มีออกไปข้างนอกบ้าง เงินที่จ่ายสำหรับเบาะนั่งชุดนี้ก็เพิ่มเป็น 43.8 บาท หรืออาจจะมากกว่านี้นิดหน่อย…ผมว่ามันโคตรจะคุ้มค่าเลย ถูกกว่าค่าทางด่วนที่ผมจ่ายทุกวันด้วยซ้ำ
● ประเด็นที่ต้องการบอก ไม่ใช่เป็นการโปรโมทยี่ห้อหรืออวดร่ำอวดรวยแต่อย่างใด แค่ต้องการจะบอกว่า การเลือกซื้อเบาะนั่งนิรภัยให้ลูกสักชุด อย่าพิจารณาเฉพาะราคาเป็นหลักสำคัญ ให้ศึกษารายละเอียดให้รอบคอบและชัดเจน เพราะก่อนหน้าที่ผมจะตัดสินใจซื้อเบาะตัวนี้ ผมเล็งเบาะนั่งที่ทางผู้ผลิตรถยนต์นำเข้ามาขายเองเป็นอุปกรณ์เลือกติดตั้งพิเศษซึ่งราคาถูกกว่าเบาะชุดนี้ร่วม 7,000 บาท
● แต่ทว่า เมื่อมองดูจากขนาดและความยืดหยุ่นในการใช้งานแล้ว คาดว่าน่าจะใช้ได้ไม่เกิน 1 ปีกับเด็กวัยแค่ 2-3 ขวบเท่านั้น ถ้าอายุเกินกว่านั้น และร่างกายของเด็กโตขึ้น ขนาดของเบาะก็น่าจะคับแคบเกินไปแล้ว แม้ว่าจะหารรายจ่ายออกมาต่อวันจะถูกกว่าก็ตาม แต่สุดท้ายเมื่อใช้ไปแค่ปีเดียว ผมก็ต้องโล๊ะเบาะตัวนี้ออกไป และหาเบาะใหม่มาแทนที่ เท่ากับว่าเป็นการเสียซ้ำซ้อนอยู่ดี
● การพิจารณาถึงความยืดหยุ่นในการใช้สอย เช่นเดียวกับมาตรฐานที่ผ่านการรับรองจากการทดสอบจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ (ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นหน่วยงานในยุโรปและนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กจึงต้องนำเข้า และราคาก็เลยสูงตามไปด้วย) และราคาที่ไม่ทารุณกระเป๋าจนเกินไป จึงเป็นสิ่งที่ควรมาควบคู่กัน
● เคยมีคนพูดกับผมว่า ‘ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่ประนีประนอม หรือยอมอะลุ่มอะหล่วยกันไม่ได้’ ซึ่งผมเห็นด้วยกับคำพูดนี้อย่างที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในขณะเดินทาง ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ ไม่ได้อยู่ที่ตัวคุณซึ่งเป็นคนขับเพียงอย่างเดียว
● ความปลอดภัยของเด็กเล็กในระหว่างเดินทางเป็นสิ่งสำคัญ และเราก็มักจะได้เห็นเด็กตกเป็นเหยื่อของอุบัติเหตุอยู่เป็นประจำ เพราะพวกเขาไม่ได้รับความเอาใจใส่อย่างเต็มที่ ถูกต้อง และถูกวิธี ซึ่งหลายต่อหลายครั้งที่เกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้น บอกตามตรงว่ารู้สึกหดหู่ และคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ แต่ทำไมถึงไม่ทำกัน
● จริงอยู่ที่การนั่งในรถโดยสาร หรือรถสาธารณะ การจะร้องขอเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ไม่ได้ แต่อย่างน้อยเมื่อลูกต้องนั่งอยู่ในรถยนต์ของเรา แล้วทำไมเราถึงจะไม่มอบสิ่งนี้ให้กับเขาล่ะ ?
● หรือถ้าทำไม่ได้จริงๆ ก็คิดว่าซื้อเบาะให้ลูกนั่งเพื่อความปลอดภัยของคุณเองก็แล้วกัน ●
• ตอนที่ 1 : จริงหรือที่เบาะนิรภัยสำหรับเด็กแพง?.
• ตอนที่ 2 : เบาะเด็กหันหน้าหรือหันหลังดีกว่ากัน?.
• ตอนที่ 3 : มารู้จักกับประเภทของ Child Car Seat กัน.
• ตอนที่ 4 : ซื้อให้ถูกต้องติดตั้งให้ถูกด้วย (ตอนจบ).
• ตอนที่ 5 : ตอนแถม… การเลือกซื้อเบาะนั่ง และ ISOFIX.