August 15, 2018
Motortrivia Team (10204 articles)

Toyota มุ่งสู่อนาคต ลงทุน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ใน Grab

Posted by : Man from the Past

 

●   หนึ่งในข่าวใหญ่ที่คาดกันว่าจะส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่ออนาคตของรถไร้คนขับ หรือรถอัตโนมัติตามชื่อใหม่ที่กำลังนิยมเรียก โตโยต้าได้ลงทุนด้วยเงินจำนวนถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 32,000 ล้านบาทในแกร็บ บริษัทรถแท็กซี่แบ่งปันที่นั่งแห่งสิงคโปร์ โดยมีการประกาศไปเมื่อช่วงกลางปี 2018 ที่ผ่านมา

●   ไม่มีรายละเอียดว่าโตโยต้าได้ถือหุ้นแกร็บเท่าไร? ทว่าโตโยต้าได้รับสิทธิ์แต่งตั้งคนของตัวเองเพื่อให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการ กับเป็นผู้บริหารระดับสูงในคณะผู้บริหาร โดยทั้ง 2 ตำแหน่งนั้นสามารถแต่งตั้งได้ตำแหน่งละ 1 คน… ทว่านี่ไม่ใช่ประเด็นที่คนในวงการให้ความสนใจนัก เนื่องจากประเด็นที่มองกันก็คือ การลงทุนจะเปิดทางให้ยักษ์ใหญ่รถยนต์กับยักษ์ใหญ่รถแท็กซี่แบ่งปันมีโอกาสร่วมกันวิจัยรถอัตโนมัติ หมายถึงในอนาคตทั้ง 2 บริษัทอาจได้ร่วมกันครองตลาดรถยนต์โลกอย่างเบ็ดเสร็จ

●   เพราะถ้ารถอัตโนมัติมีความสมบูรณ์สูงสุด ไม่ว่าช่วงเวลาใด คนจะไม่ซื้อรถไว้ใช้เอง แต่จะเรียกรถอัตโนมัติที่เป็นรถแท็กซี่แบ่งปันที่นั่งให้มารับเวลาต้องการใช้ เพราะการไม่มีคนขับบวกการไม่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง กับการแบ่งปันที่นั่ง จะทำให้ค่าโดยสารถูกจนลืมเรื่องการมีรถยนต์ส่วนตัว นี่ยังไม่พูดถึงความสะดวกในการเดินทาง จะไปไหนก็ไม่ต้องห่วงเรื่องหลงทางหรือไปผิดที่ ทั้งยัง (อาจ) ไม่ต้องห่วงเรื่องรถติด

ปริมาณรถอาจลดลง 75%

●   นักวิเคราะห์คาดว่า การแบ่งปันที่นั่งจะทำให้ผู้คนใช้รถน้อยลง ยกตัวอย่างการใช้บริการ 4 คน หาก 3 คนในนั้นไม่มีรถในครอบครอง จำนวนรถในเมืองๆ นั้นอาจลดได้ถึงร้อยละ 75 ซึ่งอาจจะเป็นแบบนั้นได้จริงในทุกเมืองทั่วโลก (ในอนาคต) แม้จะมีเสียงแย้งว่า การลดจำนวนรถยนต์จะทำให้ตลาดรถมีขนาดเล็กลง แต่เรื่องนี้มีข้อมูลว่าอาจไม่เป็นความจริง เนื่องจากการเกิดของอุตสาหกรรมรถอัตโนมัติ และบริการรับส่งแบบรถแท็กซี่แบ่งปัน จะยิ่งทำให้รถเป็นที่ต้องการในหมู่ผู้คน… อย่าลืมว่าคนในโลกปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีรถยนต์ หากรถอัตโนมัติมีราคาถูกลง กลับจะเพิ่มโอกาสให้พวกเขาได้ครอบครองรถ และไม่ใช่เพื่อใช้ส่วนตัวอย่างเดียว แต่ยังอาจนำไปประกอบอาชีพอีกด้วย เช่น อาชีพรับส่งสิ่งของจากการที่โลกได้เปลี่ยนรูปแบบการซื้อขายแบบเดิมๆ ไปเป็นการซื้อของผ่านระบบออนไลน์

●   อีกหนึ่งกรณีก็คือ “รถอัตโนมัติเกิดยาก เพราะเมืองและชุมชนต้องลงทุนทำถนนและปรับสภาพการจราจรเพื่อรองรับ” กรณีนี้ทั้งเมืองและชุมชนเองยิ่งต้องต้อนรับการลงทุน เพื่อปรับสภาพให้เป็นเรื่องปกติ

●   ทำไมหรือ? เพราะเมื่อถนนและการจราจรสามารถรองรับระบบของรถอัตโนมัติ นั่นกลับจะช่วยลดปัญหาใหญ่ของชาวโลกที่มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ นั่นคือปัญหาอาชญากรรม ลองนึกภาพถนนทุกสายกับรถทุกคันที่วิ่งบนถนนเหล่านั้น มีเครื่องมือคอยตรวจจับการสัญจรของคนและรถ ใครจะกล้าจี้กล้าปล้นกล้าฆ่า ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ปัจจุบันเริ่มมีการเคลื่อนไหวแล้วที่จะพ่วงรถอัตโนมัติเข้ากับการป้องกันอาชญากรรม

ความก้าวหน้าในกลุ่มอาเซียน

●   สำหรับการจับมือระหว่างโตโยต้าและแกร็บ จะทำให้ไทยมีโอกาสเป็นฐานผลิตและฐานธุรกิจรถอัตโนมัติ มีการวิเคราะห์กันว่า การจับมือกับแกร็บจะทำให้โตโยต้าลงทุนเข้าไปสร้างฐานผลิต และฐานจำหน่ายรถอัตโนมัติภายในพื้นที่อาเซียน ซึ่งมีพลเมืองกว่า 600 ล้านคน และกำลังมีความเจริญพุ่งขึ้นหลายด้าน โดยยังไม่นับรวมพื้นที่ประเทศใกล้เคียงอาทิจีนและอินเดีย ซึ่งหากนำจำนวนพลเมืองมารวมกัน จะมีมากถึง 2,700 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนกลายเป็นประเทศที่มีความเจริญรุดหน้าไปแล้ว ทั้งการพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือหุ่นยนต์ ในขณะที่อินเดียนั้นถูกจับตาในฐานะประเทศที่อุดมไปด้วยวิศวกรซึ่งเป็นคลังสมองในบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก

●   เมื่อเห็นขนาดพื้นที่และความเจริญแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การลงทุนในแกร็บจะทำให้โตโยต้าได้ครอบครองพื้นที่นี้ในฐานะหนึ่งในฐานผลิตและจำหน่ายรถอัตโนมัติหลักของโลก ปัจจุบันไทยเองก็เป็นฐานผลิตรถยนต์สำคัญของโลก ซึ่งในอนาคตเราก็มีสิทธิ์ที่จะกลายเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้า (และจะถูกต่อยอดให้เป็นรถอัตโนมัติ)

●   ทว่าการลงทุนในแกร็บของโตโยต้า น่าจะไม่ได้มุ่งไปที่รถอัตโนมัติและการบริการรับส่งแบบแบ่งปันเท่านั้น มีการแอบติดตามความเคลื่อนไหวลึกๆ และพบว่าโตโยต้าน่าจะกำลังมองหาลู่ทางใหม่ๆ ในการทำธุรกิจด้วยการเข้าไปเอาดีทางด้าน Mobility Platform ซึ่งจะเป็นการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับการสัญจรของผู้คนในโลกผ่านฐานข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ เพื่อต่อยอดไปยังธุรกิจที่หลากหลายยิ่งขึ้น

บริการที่ไร้ขีดจำกัดในอนาคต

●   หนึ่งในนั้นคือ “บริการการเงิน” ซึ่งรวมทั้งประกันชีวิตและประกันภัย ซึ่งบริการดังกล่าวมีข่าวก่อนหน้าแล้วว่า โตโยต้าและแกร็บได้ลงมือค้นหาลู่ทางแล้วด้วยการเข้าไปดูข้อมูลการใช้รถโตโยต้า 100 คันที่แกร็บใช้วิ่งรับผู้โดยสาร โดยเฉพาะข้อมูลของผู้ใช้บริการ หลังจากนั้นจะมีการคิดค้นบริการที่เหมาะสมตามออกมา เช่น โตโยต้ากับแกร็บจะสามารถควบรวมบริการธนาคารย่อยๆ ได้หรือไม่?

●   ถ้าเราสามารถฝากหรือถอนเงินสดกับคนขับแกร็บโดยไม่ต้องไปธนาคารให้ยุ่งยาก แล้วระหว่างนั้นหากผู้ขับแกร๊บพบว่าผู้ที่กำลังบริการนั้นกำลังเดินทางไปสนามบิน ผู้ขับแกร็บยังสามารถเพิ่มเติมบริการเสริมได้อีก เช่น การเสนอขายประกันการเดินทาง เป็นต้น และหนึ่งในเหตุผลที่โตโยต้าเข้าไปลงทุนในแกร็บ ก็เพราะแกร็บมีบริการที่อำนวยความสะดวกได้อย่างเหมาะสมอย่าง GrabPay ที่ช่วยให้เราสามารถใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตทางออนไลน์นั่นเอง

●   แม้ว่าในขณะนี้ GrabPay จะใช้งานได้แค่การจ่ายค่าโดยสาร แต่บริการนี้ยังสามารถขยายขีดความสามารถออกไปอีกมาก (จากธุรกิจอื่นๆ ของพาร์ทเนอร์ เช่น GrabExpress, GrabMart และ GrabFresh ที่เพิ่งเปิดตัวในไทย) นี่เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้มีการประเมินกันว่าว่า การทำธุรกิจทาง Mobility Platform หรือแพลทฟอร์มการสัญจรในปี 2030 เฉพาะใน 3 พื้นที่อย่างสหรัฐฯ, ยุโรป และจีน จะทำรายได้ต่อปีให้ผู้ประกอบการถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญ หรือ 48 ล้านล้านบาท…


CargoPod บริการส่งของชำในสหราชอาณาจักร (ภาพจาก www.engadget.com)


●   ที่สำคัญรายได้ดังกล่าวไม่ได้จากของชิ้นโตราคาแพง แต่จะเป็นของกินของใช้ประจำวันเช่นเป็นอาหารที่สั่งทางออนไลน์ และส่งด้วยรถในกลุ่มธุรกิจแท็กซี่แบ่งปัน ซึ่งเริ่มมีการสั่งกันทั้งมื้อเช้า, กลางวัน, เย็น หรือแม้แต่ก่อนนอน ในขณะที่ของชิ้นโตราคาแพงเช่น โทรทัศน์, ตู้เย็น รวมถึงรถยนต์ ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการสั่งซื้อทางออนไลน์เพิ่มขึ้นเช่นกัน

●   อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าโตโยต้าจะเพิ่งลงทุนในแกร็บเป็นครั้งแรก การลงทุนในแกร๊บนั้นมีขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงปี 2017 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาข้อมูลการใช้รถโตโยต้าของแกร็บในข้างต้น นอกจากนี้ บริษัทที่น่าสนใจอื่นๆ ยังมีการลงทุนของซอฟท์แบงค์ สำนักการลงทุนในกิจการเปิดใหม่ของญี่ปุ่น ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาได้เข้าตระเวณซื้อหุ้นกิจการรถแท็กซี่แบ่งปันในหลายประเทศ รวมทั้ง Didi Chuxing ยักษ์ใหญ่รถแท็กซีแบ่งปันของจีนที่เพิ่งควักเงินจำนวนถึง 2,250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 72,000 ล้านบาทเพื่อลงทุนใน Cruise Automation บริษัทลูกซึ่งดูแล การพัฒนารถอัตโนมัติของเจนเนอรัล มอเตอร์ส.

●   การได้ซอฟท์แบงค์เป็นพันธมิตร น่าจะช่วยตอกย้ำความสำเร็จที่จะเกิดกับขึ้นกับโตโยต้าในอนาคต

●   แกร๊บเกิดขึ้นจากมันสมองของผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง Anthony Tan ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดคนปัจจุบัน เดิมทีบริษัทนี้ใช้ชื่อว่า My Teksi โดยเปิดตัวในมาเลเซียเป็นครั้งแรกในปี 2012 ก่อนจะย้ายมาที่สิงคโปร์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว และเปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทสิงคโปร์เพื่อความสะดวกในการประกอบการ

●   My Teksi เดิมเป็นชื่อแอพฯ เรียกรถแท็กซี่ที่คิดค้นโดยชายแซ่ตันคนนี้ หลังเพื่อนต่างชาติคนหนึ่งได้รับประสบการณ์ไม่ดีระหว่างนั่งรถแท็กซี่ในมาเลเซีย หลังจากนั้นมีการนำแอพฯ ไปเสนอบริษัทรถแท๊กซี่ แต่กว่าจะมีบริษัทที่รับไปใช้งานจริง ก็ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ จากนั้นจึงมีการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Grab Taxi เพื่อขยายกิจการไปยังประเทศใกล้เคียงรวมกันทั้งหมด 8 แห่ง ทุกแห่งเป็นประเทศอาเซียนยกเว้นลาว

●   ปัจจุบันแกร็บให้บริการรถแท็กซี่แบ่งปันในเมืองเหล่านี้รวมกันทั้งสิ้น 168 แห่ง แต่บริการจากบริษัทแกร็บยังไม่จำกัดแค่รถแท็กซี่ ยังมี GrabCar ที่ใช้รถป้ายดำวิ่งแทนรถป้ายเหลือง (ในประเทศที่อนุญาติ), GrabCar+ รถป้ายดำราคาแพง, GrabBike มอเตอร์ไซค์, GrabHitch ที่ใช้รถจากคาร์พูล, GrabExpress ที่รับส่งของระยะทางสุดท้าย เช่น ของที่ถูกส่งมาไกล และต้องส่งไปยังปลายทางที่อยู่ไกล หรือไปไม่สะดวก, GrabPay สำหรับจ่ายเงินออนไลน์ด้วยบัตรเครดิต, GrabChat บริการส่งข้อความเพื่อการติตต่อระหว่างคนขับและคนนั่ง, GrabShare ที่ให้คนสามารถใช้รถคาร์พูลจากหลากหลายแหล่ง และ GrabFamily สำหรับครอบครัวที่บุตรหลานต้องการที่นั่งเด็ก ปิดท้ายด้วย JustGrab ที่คิดค่าโดยสารตายตัว และตามความต้องการของผู้ใช้

●   รวมแล้วล่าสุดแกร็บประกาศว่า ตัวเองมีหุ้นส่วนที่เป็นผู้ขับถึง 2 ล้านคน มีการดาวน์โหลดแอพฯ ลงในสมาร์ทโฟนแล้ว 60 ล้านเครื่อง และมีผู้ใช้บริการวันละประมาณ 3.5 ล้านคน

●   ด้านรายได้นั้น ถ้าดูบัญชีปี 2016 จะมีทั้งหมด 82.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 2,600 ล้านบาท และคงจะเพิ่มขึ้นกว่านี้มาก หลังการจับมือทำธุรกิจกับโตโยต้า   ●