October 13, 2019
Motortrivia Team (10204 articles)

Nissan Leaf ชาร์จครั้งเดียว ขับเที่ยวดอยอินทนนท์

เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ • ภาพ : นิสสัน ประเทศไทย

●   นิสสันเคยจัดให้สื่อมวลชนทดลองขับ นิสสัน ลีฟ มาแล้วครั้งหนึ่ง เป็นการขับใช้งานในเมือง เน้นลุยการจราจรติดขัด และขับในสนามปิดแบบจิมคาน่า ทดลองระบบ e-Pedal คราวนี้นิสสันจัดทดสอบอีกครั้ง เน้นการขับบนทางโล่งต่างจังหวัด ระยะทางรวมประมาณ 200 กิโลเมตร เพิ่มความท้าทายด้วยการขับขึ้นดอยอินทนนท์ ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,656 เมตร ด้วยการชาร์จแบตเตอรี่เต็มเพียงครั้งเดียว

มร. ปีเตอร์ แกลลี (Peter Galli) รองประธาน สายงานสื่อสารองค์กร นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย

●   ออกสตาร์ตที่โรงแรมวิรันดา ไฮ รีสอร์ท เชียงใหม่ เอ็ม แกลลอรี่ อำเภอหางดง ห่างจากจุดชมวิวดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นจุดกลับรถประมาณ 100 กิโลเมตร ไป-กลับก็แค่ 200 กิโลเมตร

ถ้าคิดแค่ระยะทางอย่างเดียวคงไม่น่ากังวล เพราะตามสเปคของนิสสัน ลีฟ เมื่อชาร์จแบตเตอรี่เต็ม จะใช้งานได้ 311 กิโลเมตร แต่ความท้าทายอยู่ที่การขับขึ้นดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย เส้นทางขึ้นสู่ยอดดอยมีความชันและคดเคี้ยว ต้องใช้กำลังไฟฟ้ามากกว่าการขับทางราบ แต่ในเมื่อนิสสันจัดเส้นทางนี้ให้ ก็คงแน่ใจแล้วว่าไฟฟ้าพอสำหรับไป-กลับโดยไม่ต้องขึ้นยานแม่ ก็เลยไม่ค่อยกังวลเท่าไร

คณอดิศัย สิริสิงห รองประธานสายงานการตลาด ประจำประเทศไทย

เปิด-ปิด โหมด ECO เปลี่ยนบุคลิก

●   นับเป็นโชคดีสำหรับทริปนี้ เพราะถูกจัดให้ขับรถเบอร์ 01 จึงสามารถเกาะติดรถนำขบวนเบอร์ 00 ได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะหลงทาง ขาไปใช้ความเร็วเดินทางตามปกติ ช่วงถนนว่างก็ลองกดคันเร่งเพิ่มความเร็ว ในโหมด ECO คันเร่งจะตอบสนองช้าเพื่อประหยัดพลังงาน ลองปิดโหมด ECO ก็คือการขับด้วยโหมดปกติ ไม่ใช่โหมดสปอร์ต กดคันเร่งเท่าเดิม ความเร็วเท่าเดิม เมื่อปิดโหมด ECO รถจะพุ่งขึ้นอีกนิดโดยที่ไม่ได้กดคันเร่งเพิ่ม ขับสนุกตอบสนองทันใจ เปลี่ยนบุคลิกของรถเป็นคนละคัน ถ้าเพื่อนที่นั่งข้างๆ ไม่ทักไว้ คงจะปิดโหมด ECO ขับตลอดทาง

●   เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนน 1008 มาถึงจุดตรวจที่ 1 ของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีเจ้าหน้าที่ของนิสสันมาคอยจดบันทึกกำลังไฟฟ้าที่เหลือ 76 เปอร์เซ็นต์ หลังผ่านด่านตรวจเส้นทางก็เริ่มชันและคดเคี้ยวมากขึ้นตามลำดับ กับอากาศที่เริ่มเย็นลงเรื่อยๆ เลยเปิดกระจกรับอากาศบริสุทธิ์ แต่บางช่วงก็ต้องปิดกระจกเพราะมีรถกำลังเร่งเครื่องไต่เนินจนควันดำ นึกในใจว่าถ้ารถทุกคันเป็นรถไฟฟ้า อากาศคงจะดีกว่านี้ ปิดโหมด ECO รอจังหวะให้เห็นทางข้างหน้าชัดๆ ว่าไม่มีรถสวนมาก็หมุนพวงมาลัยเบี่ยงรถออกทางขวาแล้วกดคันเร่ง แรงบิด 320 นิวตัน-เมตร ที่ 0-3,283 รอบต่อนาที ทำงานอย่างแข็งขัน กระชากตัวรถที่หนัก 1,523 กิโลกรัม ให้เพิ่มความเร็วแซงได้อย่างเฉียบขาดและปลอดภัย ที่สำคัญคือ ไปแบบเงียบๆ ไม่มีเสียงเครื่องยนต์ลากรอบ

●   บนเส้นทางคดเคี้ยวขึ้นดอย นิสสัน ลีฟ แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนที่ดี จากจุดศูนย์ถ่วงต่ำด้วยการวางแบตเตอรี่ไว้ใต้เบาะผู้โดยสารด้านหลัง ทำให้ตัวรถมีความสมดุลย์ ขับสนุกมั่นใจ ยาง 215/50 R17 ขนาดของยางไม่ใช่ปัญหา แต่ประเภทของยางที่เน้นความประหยัดนุ่มนวล ทำให้ลดทอดประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนไปบ้าง ถ้าขับใช้งานทั่วไปก็ไม่ต้องซีเรียส

●   การตอบสนองของพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าและระบบเบรก ถูกปรับจูนให้ใกล้เคียงกับรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน ทำให้ผู้ขับไม่ต้องปรับความรู้สึกมากนัก ขับเพลินๆ ไม่นานก็ถึงยอดดอยอินทนนท์ สัมผัสอุณหภูมิ 17 องศา

●   จากที่พักถึงยอดดอย ระยะทาง 103 กิโลเมตร กำลังไฟฟ้าเหลือ 27 เปอร์เซ็นต์ ระยะทางที่ขับได้ 59 กิโลเมตร แล้วจะกลับที่พักได้อย่างไร?

เกียร์ B เพิ่มพลังการชาร์จ

●   แวะยืดเส้นยืดสาย สัมผัสเกลียวหมอกเติมความสดชื่นแล้วออกเดินทางต่อโดยสลับผู้ขับ เจ้าหน้าที่นิสสันแนะนำให้ใช้ตำแหน่งเกียร์ B ซึ่งจะช่วยหน่วงตัวรถเพิ่มขึ้นขณะขับลงเนิน และช่วยเพิ่มแรงชาร์จไฟฟ้าด้วย (เกียร์ B คล้ายตำแหน่งเกียร์ต่ำในรถสันดาปภายใน) ขับลงไปถึงด่านตรวจที่ 1 ชาร์จไฟฟ้ากลับได้รวม 45 เปอร์เซ็นต์ ถึงที่พักแน่นอน เพราะระยะทางเหลือเพียง 63 กิโลเมตร แต่แค่ถึงยังไม่พอสำหรับคนขับ เพราะงานนี้มีรางวัลขับประหยัดด้วย ทำให้ต้องพยายามใช้พลังงานให้น้อยที่สุด และชาร์จกลับให้มากที่สุด คิดถูกแล้วที่เลือกขับขาไป เพราะขับได้อย่างเต็มที่ สุดท้ายแล้วก็ถึงที่พักโดยสวัสดิภาพและไม่ต้องลุ้น เพราะกำลังไฟฟ้าเหลือ 19 เปอร์เซ็นต์

●   สำหรับทริปนี้ นิสสัน ลีฟ พิสูจน์ตัวเองในเรื่องการชาร์จไฟฟ้ากลับด้วยตัวเองที่มีประสิทธิภาพ สามารถยืดระยะการใช้งานไปได้อีก แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และตัวผู้ขับที่ต้องมีเทคนิคในการขับพอสมควร หมดข้อสงสัยเรื่องความแรงของการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า และประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนที่ทำได้ดี นิสสันเพิ่มความมั่นใจด้วยการรับประกันอายุแบตเตอรี่ 8 ปี หรือ 160,000 กิโลเมตร และรับประกันระบบไฟฟ้า 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร

●   การชาร์จไฟฟ้าทำได้ 3 แบบ ทั้งชาร์จได้ทั้งไฟบ้านปกติด้วย EVSE Cable ที่มาพร้อมรถยนต์ ชาร์จเต็มใช้เวลา 12-16 ชั่วโมง หรือจะชาร์จผ่าน Wall Box 6-8 ชั่วโมง และ Quick Charge ไฟฟ้ากระแสตรง 40-60 นาที และปัจจุบันมีสถานีชาร์จไฟฟ้ากว่า 244 จุดทั่วประเทศ เรื่องวิธีการชาร์จและสถานีชาร์จ ไม่ใช่ปัญหาหลัก เพราะผู้ที่จะซื้อรถไฟฟ้าย่อมต้องศึกษาหาข้อมูลก่อนแล้ว และคงไม่ใช่รถที่จะใช้งานในชีวิตประจำวัน แต่เป็นรถที่ซื้อมาเพราะอยากลองใช้รถไฟฟ้า

●   ปัญหาของลีฟไม่ได้อยู่ที่คุณภาพของตัวรถ หรือความไม่สะดวกในการชาร์จ แต่อยู่ที่ราคาจำหน่าย 1.99 ล้านบาท ซึ่งเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ได้ยาก โดยส่วนตัวเชื่อว่านิสสันก็ไม่ได้อยากตั้งราคาสูงขนาดนี้ แต่คงจะมีปัจจัยหลายอย่างทำให้กดราคาลงต่ำกว่านี้ไม่ได้ เมื่อมีโอกาสผู้บริหารของนิสสันก็จะสอบถามสื่อมวลชนอยู่เสมอว่าราคาเท่าไรจึงจะน่าสนใจ ส่วนใหญ่ตอบตรงกันว่าประมาณ 1.3-1.4 ล้านบาท  ●


2019 Nissan Leaf : Group Test (2)