March 18, 2021
Motortrivia Team (10205 articles)

MG และ สวทช. เตรียมเปิดให้บริการสถานีชาร์จ MG Super Charge

ภาพ : สุพรรณี ยังอยู่

●   บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. พัฒนามาตรฐานสถานีชาร์จแบตเตอรี่ (EV Charging Station) และเริ่มทยอยเปิดให้บริการสถานีชาร์จ MG Super Charge

●   ล่าสุดเอ็มจีได้ติดตั้งสถานีชาร์จที่โชว์รูมเอ็มจีทั่วประเทศแล้วจำนวน 108 แห่ง และมีแผนจะขยายเครือข่ายเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องอีก 500 แห่งภายในปี 2564 นี้

●   เอ็มจีระบุว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV Ecosystem ในประเทศไทย โดยได้ทำการเดินหน้าแผนงานด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนให้ไทยให้เข้าใกล้สังคมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้เร็วขึ้น เริ่มตั้งแต่การเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้า, สนับสนุนและทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ – รัฐวิสาหกิจ และเอกชน อาทิ การลงนาม MOU ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (MEA), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ในการร่วมกันขยายจุดชาร์จแบตเตอรี่เพื่อรองรับปริมาณรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

●   สำหรับความร่วมมือครั้งล่าสุดกับ สวทช. เอ็มจีได้ลงนามบันทึกข้อตกลงด้านการพัฒนาระบบการรับรองและมาตรฐานสำหรับ EV Charging Station ผ่านการทดสอบสถานีชาร์จแบตเตอรี่ของเอ็มจี หรือ MG Super Charge เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการศึกษา วิจัย และใช้งานสถานีชาร์จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานที่เป็นหนึ่งเดียวกันให้กับระบบการชาร์จแบตเตอรี่ในไทยที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

มร. จาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

EV Ecosystem

●   มร. จาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การร่วมมือกันในครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของเมืองไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่มีเป้าหมายเดียวกันเพื่อขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไทย ถือเป็นการยกระดับองค์ความรู้ สร้างบรรทัดฐานระบบการชาร์จและเสริมความแข็งแกร่งให้กับ EV Ecosystem”

●   “วันนี้เราต่างต้องการให้คนไทยมีความสบายใจในการเลือกและใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘สถานีชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้า’ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของระบบนิเวศรถยนต์พลังงานไฟฟ้า สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มีเป้าหมายหลักเพื่อรับรองความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และมาตรฐานของสถานีชาร์จเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้ามากขึ้นและให้คนไทยรู้ว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าใช้งานง่ายเพียงใด ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศและยกระดับประเทศไทยไปสู่สังคมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าไปอีกขั้น”

ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

●   ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “จากนโยบายของภาครัฐ โดยกระทรวงพลังงานที่มีการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นส่วนหนึ่งในแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558 – 2579 (Energy Efficiency Plan: EEP 2015) มีเป้าหมายให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคันภายในปี พ.ศ. 2579 ดังนั้น การร่วมมือกันระหว่าง สวทช. และ เอ็มจี ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวย่างครั้งสำคัญ ในการยกระดับมาตรฐานให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Automotive) ให้มีศักยภาพและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทย และขับเคลื่อนให้เกิดสังคมยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น”

●   “เราเห็นถึงความตั้งใจของเอ็มจีในการสร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่ระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า โดยได้ให้ความสำคัญกับมาตรฐาน ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ EV Charger ทั้งระดับประเทศไทย และระดับสากล โดย สวทช. ได้ร่วมดำเนินการผ่านการทดสอบของศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ PTEC พร้อมกันนี้ สวทช. ยังได้ตั้งเป้าหมายให้เกิดการใช้งานห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ และ EV Charger ในประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาทักษะองค์ความรู้ของผู้ปฏิบัติงานทดสอบในประเทศ เพื่อสนองนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรม ยานยนต์สมัยใหม่ให้ครบวงจรอีกด้วย”

●   “นอกจากนี้ ทางเอ็มจียังได้ดำเนินการติดตั้งสถานีชาร์จจำนวน 3 แห่ง ให้กับ สวทช. ซึ่งจะกระจายติดตั้งที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี อาคารวิจัยโยธี ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ และศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อสนับสนุนการให้บริการผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างครอบคลุม”

●   มร. จาง ไห่ โป กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับความคืบหน้าของแผนงานการขยายสถานีชาร์จของเอ็มจีที่ประกาศไว้ เมื่อปีที่ผ่านมา ล่าสุดได้บรรลุแผนระยะที่ 1 มีการติดตั้งสถานีชาร์จ จำนวน 108 สถานีที่โชว์รูมและศูนย์บริการเอ็มจีเรียบร้อยแล้ว โดยมีความพร้อมเปิดให้บริการแล้ว 67 สถานี ซึ่งราคาค่าบริการในช่วง Off Peak* จะอยู่ที่ 6.5 บาท ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง และในช่วงเวลา Peak* จะอยู่ที่ 7.5 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง พร้อมเดินหน้าสู่แผนระยะที่ 2 ในการติดตั้งสถานีชาร์จ MG SUPER CHARGE อีก 500 จุดทั่วประเทศด้วยงบลงทุนมูลค่า 500 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อลดความกังวลเกี่ยวกับสถานีชาร์จ และเพิ่มความมั่นใจในการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าด้วยจำนวน สถานีชาร์จที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น”

หมายเหตุ : * Peak : วันจันทร์ ถึงวันศุกร์ ระหว่างเวลา 08:00 – 22:00 ส่วนช่วง Off Peak : วันจันทร์ ถึงวันศุกร์ ระหว่างเวลา 22:00 – 08:00 และ วันเสาร์ – อาทิตย์ ตลอด 24 ชั่วโมง

ขั้นตอนการทดสอบประสิทธิภาพ

●   การทดสอบประสิทธิภาพของแบตเตอรี่แพคในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า จะมีการทดสอบประสิทธิภาพการประจุไฟฟ้า และการคายประจุไฟฟ้าขณะใช้งาน โดยเป็นการจำลองสภาวะการทำงานของแบตเตอรี่ ชาร์จ และดิสชาร์จ ในช่วงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมภายนอก ทั้งอุณหภูมิสูงและอุณหภูมิต่ำ ในห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่

●   การทดสอบเครื่องประจุไฟฟ้า หรือ EV charger นั้น (EV charger ของ MG มีขนาด 60 kW) เป็นการทดสอบตามมาตรฐาน IEC 61851 และ มอก.61851 เพื่อทำให้เครื่อง EV charger สามารถทำการชาร์จรถไฟฟ้าได้ และเป็นไปตามมาตรฐานที่จะใช้งานในประเทศไทย เครื่องทดสอบจะทำการจำลองสภาวะการทำงานเสมือนเป็นรถไฟฟ้า เชื่อมต่อกับ EV charger และจะทำการอ่านข้อมูลการสื่อสารออกมาเทียบกับมาตรฐาน IEC61851

●   ต่อด้วยการทดสอบภูมิคุ้มกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของอุปกรณ์ยานยนต์ หรือ Transient and Radiated Immunity คือการทดสอบสามารถในการต้านทานของชิ้นส่วนรถยนต์ ต่อการรบกวนจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยชิ้นส่วนรถยนต์แบบอิเลคทรอนิคส์จะถูกวางอยู่บนโต๊ะทดสอบ จากนั้นเครื่องกำเนิดสัญญาณรบกวนจะส่งสัญญาญ Transient ตามมาตรฐาน ISO 7637 ออกไปรบกวนการทำงานของอุปกรณ์ชิ้นส่วนในรถยนต์ โดยขณะทำการทดสอบจะเปิดอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ให้ทำงานตามฟังชั่นทำงานปกติ จากนั้นสังเกตุสภาวะการทำงานของอุปกรณ์ว่ายังทำงานได้อยู่หรือไม่ การทดสอบนี้จะทำให้มั่นใจว่าชิ้นส่วนยานยนต์ที่ถูกทดสอบนี้สามารถนำไปใช้งานในยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย

●   ปิดท้ายด้วยการใช้งานสถานีชาร์จ หรือ EV charging station ซึ่งสถานีชาร์จของ MG จะถูกติดตั้งในพื้นที่ และเปิดใช้งาน โดยมีการสาธิตการใช้งานให้กับสื่อมวลชนที่เข้าร่วมงานได้ทราบขั้นตอนต่างๆ และแนะนำการใช้งานซอฟท์แวร์ที่สามารถตรวจสอบสถานะต่างๆ ได้

MG Super Charge

●   สถานีชาร์จแบตเตอรี่ MG Super Charge ได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่าย ผู้ใช้สามารถใช้เครื่องชาร์จได้ด้วยตัวเอง และมีแอพพลิเคชั่น i-SMART บนสมาร์ทโฟนที่รองรับการตรวจสอบเวลาการทำงาน, ความพร้อมในการใช้งาน, ค้นหาตำแหน่ง, จอง และเติมเงินก่อนเริ่มชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดเวอร์ชั่นใหม่ของ i-SMART ได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทั้งบน Android (Google Play) และ iOS (App Store)

●   ปัจจุบันรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เอ็มจีเปิดตัวและจำหน่ายในประเทศไทย ประกอบด้วย MG ZS EV รถแบตเตอรี่รุ่นแรกของเอ็มจี, MG HS PHEV รถ SUV ขนาดกลางพลังปลั๊ก-อิน ไฮบริด และ MG EP รถแบตเตอรี่ตัวถังสเตชั่นแวกอนหนึ่งเดียวในไทย ณ วันปัจจุบัน

●   สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเชิญได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ MG Call Centre โทร. 1267 หรือเว็บไซท์ www.mgcars.com, Line: @MGThailand, Facebook: www.facebook.com/MGcarsThailand และ Twitter: @mg_thailand   ●

MG Super Charge