September 2, 2017
Motortrivia Team (10196 articles)

Nissan เผยผลประกอบการไตรมาสแรก และเงื่อนไขในการทำตลาดรถไฟฟ้าในประเทศ

ภาพ : จันทนา เจริญทวี

●   นิสสัน ประเทศไทย จัดงานแถลงข่าวเผยกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ 3 ประการที่ยึดลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญ ส่งผลให้ผลประกอบการของนิสสันในประเทศไทยเติบโตขึ้น โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในไตรมาสแรกปี 2560 เพิ่มขึ้น 1.4%

●   นายอันตวน บาร์เตส (Antoine Barthes) ประธาน บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า กลยุทธ์สำคัญ 3 ประการนี้ประกอบด้วย 1.) การเพิ่มความหลากหลายของรุ่นรถในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นรุ่นใหม่หรือปรับโฉม 2.) การทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้จำหน่ายอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานและการลงทุนให้สามารถนำเสนอการบริการที่มีคุณภาพ และสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และ 3.) การใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตของนิสสันในประเทศไทยรวมถึงศูนย์พัฒนาและวิจัยยานยนต์ของนิสสัน เพื่อนำเสนอรถรุ่นพิเศษ และรุ่นเฉพาะที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในประเทศ

●   ยอดจำหน่ายของนิสสันในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 (ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2560) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดนนิสสันคาดว่าจะสามารถทำยอดจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น 2 หลักเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณในเดือนมีนาคม 2561 เนื่องจากภาพรวมของตลาดรถไทยมีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นในช่วงปีงบประมาณ 2560

●   นิสสันเชื่อว่าสภาพเศรษฐกิจไทยกำลังพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ที่ 3.5%*(ที่มา EIU กรกฎาคม 2560) รวมถึงความต้องการในการซื้อรถใหม่ทดแทนรถเก่าที่เข้าร่วมนโยบายรถคันแรก

กลุ่มรถ Eco Car ยังคงแข็งแกร่ง

●   นายอันตวน บาร์เตส กล่าวว่า “ธุรกิจของนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย เติบโตอย่างเข้มแข็งในไตรมาสแรก และมีแนวโน้มผลประกอบการเป็นเชิงบวกสำหรับครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2560 ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการของลูกค้าในรถยนต์กลุ่มอีโคคาร์ เห็นได้จาก Nissan March ที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า รวมถึง Nissan Almera ที่มียอดขายเติบโตขึ้นต่อเนื่องจากความนิยมของลูกค้า นอกจากนี้ Nissan Note ก็มียอดจำหน่ายที่ดี รวมถึง Nissan Navara ที่เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะ Navara King Cab ที่ได้รับความนิยมในหมู่ลูกค้าอย่างมาก”

●   “ด้วยปัจจัยที่กล่าวมานี้ ส่งผลให้นิสสันกลายเป็นแบรนด์ที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุดในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น 1.4% ในไตรมาสแรก เราเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดถึง 7% เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 2560 หากผลดำเนินการทางธุรกิจยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปตามที่คาดการณ์ไว้ในช่วงครึ่งปีหลัง”

●   “การเติบโตของนิสสันในประเทศไทยสะท้อนให้เห็นถึงความไว้วางใจที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ และเป้าหมายของแบรนด์ที่ยึดลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ประเทศไทยเป็นตลาดที่สำคัญของเรา ซึ่งเรายังคงมุ่งมั่นสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งให้กับธุรกิจในประเทศไทย และให้ความสำคัญกับความสุข ความพึงพอใจ และความปลอดภัยของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง”

การผลิตเพื่อส่งออกยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ

●   ปัจจุบันประเทศไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกที่สำคัญนิสสัน โดยมีโรงงานผลิตในประเทศไทย 2 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรถยนต์รวมกัน 228,250 คัน โดยในจำนวนนี้ 57% เป็นรถที่ผลิตเพื่อการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ

รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมาไหม?

●   ไม่ใช่เรื่องง่าย และยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดในเวลานี้ แต่นิสสันประกาศว่า “นิสสันอยากเป็นบริษัทแรกๆ ที่นำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย”… แน่นอนว่านิสสันจะนำ Nissan Leaf เจนเนอเรชั่นใหม่ เข้ามาขายเมื่อไหร่ก็ได้หลังจากเปิดตัวในตลาดโลก แต่ปัญหาคือราคาจำหน่ายจะอยู่ที่คันละเท่าไหร่? จะขึ้นไปชนกับระดับราคารถ PHEV ของแบรนด์หรูอย่าง BMW, Mercedes หรือ Volvo ไหม? และคนไทยธรรมดาๆ ทั่วไปจะมีกำลังซื้อหรือไม่

●   ดังนั้นคำถามที่ว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมาไหม คำตอบไม่ได้อยู่ที่นิสสันฝ่ายเดียว เบื้องต้นต้องมีการพูดคุยเรื่องข้อกำหนดทางด้านภาษีกับรัฐบาลเสียก่อน ซึ่งนิสสันกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดย นายอันตวน บาร์เตส กล่าวว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (battery electric vehicle) เช่น Nissan Leaf จะเกิดขึ้นได้ (หรือขายได้ในประเทศใดก็ตาม) ต้องมีปัจจัยหลัก 2 ประการคือ การคิดโครงสร้างอัตราภาษีที่เหมาะสม “ทั้งกับผู้บริโภคและผู้ผลิต” และต้องมีการเตรียมโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเสียก่อน ซึ่งในกรณีนี้ก็คือสถานีชาร์จแบตเตอรี่นั่นเอง และนิสสันไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง อย่างน้อยต้องมีพาร์ทเนอร์ร่วม

●   ทั้งนี้ ในญี่ปุ่นเองการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จยังเป็นเรื่องในระดับที่แบรนด์หลักอย่าง Honda, Mitsubishi, Nissan และ Toyota ต้องร่วมมือกันเพื่อให้สัมฤทธิ์ผล ดังนั้นการขยายเครือข่ายสาธารณูปโภคในบ้านเราอย่างเป็นรูปธรรมยังไม่มีความชัดเจนครับ (ปัจจุบันเรื่องนี้ผ่านไปแล้ว ณ เวลานี้ Honda, Nissan และ Toyota กำลังร่วมมือกัน เพิ่มจำนวนสถานีไฮโดรเจน สำหรับรถ Fuel Cell ในญี่ปุ่น)

●   เมื่อเป็นเช่นนี้ การลุ้นให้รถยนต์ที่ติดตั้ง ระบบขับเคลื่อนที่มีต้นทุนเบากว่าอย่าง e-Power เข้ามาขายในไทยดูจะมีความเป็นไปได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ภายในงานวันนี้มีการระบุว่า นิสสันวางตำแหน่งทางการตลาดของระบบขับเคลื่อน e-Power เอาไว้ในกลุ่มเดียวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หมายความว่า กรอบเวลาที่แน่นอนในการนำระบบขับเคลื่อน e-Power เข้ามาทำตลาด (อย่างน้อยก็ใน Nissan Note รุ่น e-Power) นิสสันยังให้คำตอบที่แน่ชัดไม่ได้เช่นกัน

●   นอกจากนี้นิสสันยังระบุว่า หากนิสสันคิดจะทำตลาดรถที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าล้วน หรือกึ่งไฟฟ้าอย่าง e-Power จริง ก็ยังมีอีกปัญหาใหญ่ที่รออยู่ นั่นคือซัพพลายเออร์ที่จะทำการผลิตชุดแบตเตอรี่แพคให้กับนิสสัน และจะต้องเป็นซัพพลายเออร์ที่ทำการผลิตภายในประเทศด้วย

●   อนึ่ง สิ่งที่นิสสันต้องการจากรัฐบาลคือ แผนงานที่ครอบคลุมเป็นวงกว้าง ไม่ใช่การสนับสนุนเฉพาะเรื่องการลดราคาจำหน่ายเป็นแคมเปญชั่วครั้งชั่วคราว แต่ควรจะมีสิทธิพิเศษอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ที่จอดรถพิเศษในเมืองใหญ่ที่หาจุดจอดรถยาก หรือเลนพิเศษในชั่วโมงเร่งด่วนสำหรับรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น เลน HOV หรือ high-occupancy vehicle lane ในแคลิฟอร์เนีย เป็นต้น

●   สรุปแล้ว… นิสสันอยากจำหน่ายรถไฟฟ้าครับ แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ข้างต้น ทำให้นิสสันยังไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาได้ชัดเจนในเวลานี้ แต่อย่างน้อยเราก็ได้รู้ว่า นิสสันกำลังมองหาลู่ทางที่เป็นไปได้อยู่ ณ ปัจจุบัน ดังนั้นใครที่อยากเห็นรถไฟฟ้าของนิสสัน ยังต้องอดทนรอกันต่อไปอีกพักใหญ่ๆ เลยครับ

●   สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิสสัน ประเทศไทย เชิญได้ที่ www.nissan.co.th   ●