April 26, 2024
Motortrivia Team (10250 articles)

ความเคลื่อนไหวของตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าไตรมาสแรกปี 2024

เรื่อง : AREA 54

●   ยอดจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ล้วน (BEV) ทั่วโลก เริ่มส่งสัญญาณที่บ่งบอกถึงทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เปลี่ยนไป หลายบริษัทเริ่มไม่แน่ใจว่ารถไฟฟ้าล้วนคือคำตอบที่ถูกต้องแบบเป๊ะๆ ในเวลานี้ แม้ว่าราคาของรถไฟฟ้าจะค่อยๆ ลดลงก็ตาม เนื่องจากเราต้องยอมรับว่า มันไม่ได้ลดลงตามกลไกการแข่งขันในตลาดแบบปกติ แต่เป็นการทิ้งบอมบ์สงครามราคา ซึ่งชัดเจนว่ามาจากประเทศจีน

●   ก่อนอื่น… นี่เป็นความผิดของกองทัพรถไฟฟ้าจากประเทศจีนหรือไม่? ไม่เลยครับ พวกเขามีห่วงโซ๋ในการผลิตที่แทบจะเรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบ มีการพัฒนาแบบลองผิดลองถูกอย่างต่อเนื่องมามากกว่า 15 ปี และบรรดาบริษัทผู้ผลิตยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ภายใต้โครงการ NEV หรือ New Energy Vehicle Program อีกด้วย… ปัญหาคือผู้ผลิตรถยนต์ดั้งเดิมไม่สามารถกดราคาจำหน่ายได้เท่ากับผู้ผลิตจีน เนื่องจากห่วงโซ่ในการผลิตทั้งระบบปรับตัวไม่ทัน

สนับสนุนเต็มที่ ก่อนจะคัดทิ้งผู้ผลิตที่ไม่มีคุณภาพ

●   New Energy Vehicle Program ของรัฐบาลจีนนั้นเริ่มขึ้นในช่วงปี 2009 ในช่วงนั้นมีบริษัทยักษ์ใหญ่จนถึงสตาร์ทอัพมากมายเข้าร่วมโครงการ พวกเขาออกแบบและผลิตรถไฟฟ้าอย่างไม่หยุดยั้ง แน่นอนว่ามันมีทั้งรถที่ดี รถที่ไม่ดี ปนเปกันมากมาย ทั้งในตลาดและบนแผนการผลิตที่ยังไม่เกิดขึ้น… และในส่วนนี้ ผู้ผลิตแบรนด์ใหญ่ได้มองไปยังอนาคตข้างหน้าถึงตลาดส่งออกแล้ว

●   หลังจากลุยกันแบบฝุ่นตลบมาถึง 8 ปี ในที่สุด คณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ NDRC (National Development and Reform Commission) ก็ระงับใบอนุญาตในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของบรรดาสตาร์ทอัพชั่วคราว เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบความเหมาะสมของบริษัทหน้าใหม่, ข้อกำหนดเบื้องต้นในด้านคุณภาพของงานวิศวกรรม รวมถึงกลุ่มทุนที่ให้การสนับสนุนด้วย

●   และนั่นทำให้การคัดกรองบริษัทต่างๆ เหลือเพียงบริษัทที่มีศักยภาพมากพอจนถึงปัจจุบัน แต่จะดีจนถึงขั้นที่ผู้ผลิตญี่ปุ่นเคยครองโลกในยุค ICE หรือไม่นั้น เรายังต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ไปอีกระยะหนึ่ง “โดยไม่นำตัวเลขยอดจำหน่ายมาเป็นเครื่องชี้นำ” (หมายความว่าญี่ปุ่นนั้นใช้เวลาหลายทศวรรษ กว่าที่ทั่วโลกจะยอมรับว่ารถจากญี่ปุ่นมีคุณภาพไม่น้อยหน้าผู้ผลิตจากยุโรป)

แผนงานแบน ICE ดีเลย์ทั่วโลก PHEV อาจเป็นคำตอบในช่วงเปลี่ยนผ่าน

●   สหราชอาณาจักรเคยวางแผนว่าจะแบนรถ ICE ที่เป็นรถใหม่ทั้งหมด (*) ไม่ว่าจะเป็นเบนซิน, ดีเซล หรือแม้แต่ LPG ภายในปี 2030 ทว่ามีการดีเลย์ออกไปเป็นปี 2035 นั่นทำให้รถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ซึ่งเดินทางไกลได้สะดวกกว่าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ผลิตเองก็สามารถเบาใจไปได้อย่างน้อยเกือบ 10 ปี จนกว่ารถไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริด จะถูกแบนไปด้วยเช่นกัน

●   ข้ามมายังสหรัฐฯ รัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษสำหรับรถกรีน จะเริ่มยุติการจำหน่ายรถพาณิชย์พลังดีเซลในปี 2024 นี้ และตั้งเป้าจะจำหน่ายรถมลพิษศูนย์ให้ได้ถึง 75% ในปี 2035 แต่กว่าที่แคลิฟอร์เนียจะสามารถสั่งห้ามขายรถพาณิชย์พลังดีเซลที่เป็นรถใหม่ได้ก็จะต้องรอไปถึงปี 2036 และคาดว่าจะไม่มีรถพาณิชย์พลังดีเซลวิ่งอยู่บนถนนได้จริงๆ ก็ปี 2042 หรืออีก 18 ปีข้างหน้า

●   ส่วน EU และเยอรมนี เดิมทีเคยตั้งเป้าจะแบนทั้งรถเบนซินและดีเซลในปี 2030 ก็เพิ่งบรรลุข้อตกลงขยายเวลาให้รถ ICE บางรุ่นยังคงจำหน่ายเป็นรถใหม่ได้จนถึงปี 2035… อย่างไรก็ตาม สหราชอาณาจักรเป็นประเทศเดียวที่ตั้งใจจะแบนรถยนต์นั่ง และรถแวนพลัง ICE ทั้งหมดในปี 2030

●   ทั้งนี้ Volker Wissing รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของเยอรมนีได้ระบุว่า “รถยนต์ที่ยังคงใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน สามารถจดทะเบียนเป็นรถใหม่ได้หลังปี 2035 หากรถพวกนั้นใช้เชื้อเพลิงประเภท CO2-neutral fuels” (หมายถึง e-Fuels)

●   สำหรับ e-Fuels หรือเชื้อเพลิงสังเคราะห์นั้น ปัจจุบันยังมีราคาและต้นทุนการผลิตที่สูงมาก ในยุโรปนั้นปอร์เช่คือผู้ลงทุนรายใหญ่ในการพัฒนาเชื้อเพลิงชนิดนี้ การผลิตใช้วิธีนำคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ คาร์บอนมอนนอกไซด์ ร่วมกับไฮโดรเจนที่ได้มาจากการแยกน้ำโดยพลังงานหมุนเวียน (เช่นกังหันลม, โซลาร์ เซลล์ หรือพลังงานนิวเคลียร์) มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงสังเคราะห์ และสามารถใช้งานในเครื่องยนต์สันดาปภายในได้

●   ฝั่งประเทศฝรั่งเศส เคยตั้งเป้าจะแบนรถดีเซลที่ได้รับมาตรฐาน Crit’Air 3 (ดีเซล Euro 4 หรือเบนซิน Euro 2 และ 3), Crit’Air 4 (Euro 3) และ Crit’Air 5 (Euro 2) วิ่งเข้าไปในกรุงปารีส ภายในช่วงปี 2023 ทว่าในความเป็นจริง โครงสร้างพิ้นฐานของรัฐฯ ที่จำเป็นสำหรับการบังคับใช้ยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ ดังนั้นพวกเขาจึงเลื่อนมาตรการนี้ไปอย่างน้อยจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2025… หมายความว่าการแบนรถ ICE นั้นไม่ง่ายนัก แม้ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม

(*) หมายเหตุ : รถเบนซิน, ดีเซล และ LPG ที่เป็นรถมือสอง ยังอนุโลมให้วิ่งบนหลวงได้ และสามารถซื้อ-ขายเป็นรถมือสองได้เท่านั้น

ไตรมาสแรกปี 2024 ยอดจำหน่ายรถไฟฟ้าในเยอรมนีลดลง 14.1%

●   ในช่วงเดือนธันวาคม 2023 ที่ผ่านมา (*) รัฐบาลเยอรมันตัดสินใจยุติการให้ส่วนลดสร้างแรงจูงใจเพื่อสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และนั่นส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ลดลง -14.1% ในไตรมาสแรก ทว่าตัวเลขการส่งมอบรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถที่ใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ (ไฮบริด, ไฮโดนเจน ฟิว เซลล์ และแกสธรรมชาติ NGV/CNG) กลับเพิ่มขึ้น

●   ตัวเลขนี้น่าสนใจครับ พวกเขาเก็บยอดจำหน่ายรถใหม่ในไตรมาสแรกได้เพิ่มขึ้นเป็น 694,785 คัน หรือ +4.2% เมื่อเทียบกับปี 2022 ส่วนรถไฟฟ้านั้นลดลงเหลือ 81,337 คัน จาก 94,736 คัน ในปี 2022

●   แต่การที่รถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ฯลฯ มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น หมายความว่าคนส่วนใหญ่พร้อมใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า แต่ราคาก็ต้องมีความเหมาะสมด้วย ดังนั้นรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ซึ่งพึ่งพาพลังงานฟอสซิลน้อยลง และมีราคาที่ต่ำกว่า (รวมทั้งมีความประหยัดกว่ารถไฮบริดอย่างชัดเจน) จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในยามที่รถแบตเตอรี่ล้วนยังมีราคาที่ไม่ลงล็อคกับสภาพทางการเงินของคนส่วนใหญ่

●   ที่สำคัญ มาตรการด้านส่วนลดสร้างแรงจูงใจจากภาครัฐฯ ยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า… จะมาก จะน้อย ขอให้มี

(*) หมายเหตุ : หลังการประกาศยุติการสนับสนุนด้านราคาในเดือนธันวาคม 2023 ยอดจำหน่ายรถไฟฟ้าในเยอรมันร่วงลงทันที -54.9% ในเดือนมกราคม 2024

Top 10 ในประเทศเยอรมนี Q1/2024
แบรนด์ยอดรวม (คัน)เฉพาะ EVs (คัน)
01. Volkswagen130,0898,637
02. Mercedes-Benz63,0997,720
03. BMW53,5497,959
04. Skoda48,8563,922
05. Audi46,9135,861
06. Opel37,1602,444
07. SEAT36,0842,414
08. Ford25,680759
09. Hyundai22,8803,777
10. Toyota21,968712

สหรัฐฯ ยอดเพิ่มขึ้น 2.6% เหตุผลคล้ายเยอรมนี… แต่ต่างรูปแบบ

●   สหรัฐฯ เก็บยอดรถไฟฟ้าในไตรมาสแรกได้ 268,909 คัน เพิ่มขึ้น +2.6% เมื่อเทียบกับปี 2023… คุณผู้อ่านที่ตามข่าวรถไฟฟ้าน่าจะเดากันได้ทันที ยอดจำหน่ายส่วนใหญ่ไปกองอยู่ที่เทสล่า เนื่องจากพวกเขาตัดสินใจร่วมสงครามรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากประเทศจีนนั่นเอง ซึ่งล่าสุด Elon Musk เองก็ถึงกับต้องออกโรงเตือนถึงความน่ากังวลเกี่ยวกับศักยภาพของแบรนด์ BYD

●   เทสล่านั้นได้รับความนิยมในลักษณะ “ป๊อปสตาร์” ในแวดวงยานยนต์อยู่แล้ว การที่พวกเขาปรับลดราคาจำหน่าย + กับมาตรการสนับสนุนด้านราคาจากรัฐบาล ยิ่งทำให้เห็นว่าใครๆ ก็อยากเปลี่ยนไปขับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ถ้าราคาของมันนั้นสามารถซื้อหากันได้แบบไม่คิดมาก

Top 10 รถ EVs ในสหรัฐอเมริกา Q1/2024
แบรนด์จำนวน (คัน)เปลี่ยนแปลง
01. Tesla140,187-13.3%
02. Ford20,223+86.1%
03. Rivian13,588+58.8%
04. Hyundai12,290+57.1%
05. Mercedes-Benz12,250+66.9%
06. BMW10,713+62.6%
07. KIA9,654+62.8%
08. Chevrolet8,701-55.8%
09. Volkswagen6,167-36.8%
10. Cadillac5,800+499.2%

●   จากตัวเลขด้านบน แม้ว่าเทสล่าจะนำโด่งที่ 140,187 คัน ทว่าเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2023 จะลดลง -13.3% (161,630 คัน) นั่นเป็นเพราะเทสล่าเองก็ไม่มีโมเดลใหม่มากระตุ้นตลาด ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าของการเปิดตัว Tesla Cybertruck และ Tesla Model 2 ซึ่งกรอบเวลายังไม่ชัดเจนนักในเวลานี้ (Model 2 คาดว่าจะผลิตที่ Gigafactory Berlin-Brandenburg หรือ Gigafactory 4 ประเทศเยอรมนี) ดังนั้น Tesla Model Y ยังคงทำหน้าที่เป็นหัวหอกให้กับเทสล่าจนถึงปัจจุบัน… ซึ่งก็น่าทึ่งอยู่เหมือนกัน

●   ในภาพรวม ราคาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังคงมีความสำคัญอย่างมากต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่รถยนต์จากประเทศจีนจะค่อยๆ ตีตลาดโลกคู่ไปกับพัฒนาคุณภาพตัวรถและเพิ่มความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกับญี่ปุ่นในยุค ICE เนื่อวจากพวกเขามีทั้งเวลา, ทุน และทรัพยากรในการผลิตอย่างเต็มที่ หรือจนกว่าจะมีแบรนด์ใดพลิกสถานการณ์เรื่องเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบชนิดเกมเปลี่ยนได้จริงๆ (คือเดินสายการผลิตได้ในเชิงปริมาณ)

●   สำหรับบ้านเรา แม้ว่าตลาด EV จะบูมจนแทบจะดูเหมือนหยุดไม่อยู่ แต่ก็เป็นไปในลักษณะ นำเข้า เราซื้อ ซึ่งเรายังต้องรอจนกว่าจะสามารถปรับตัวเข้าสู่ยุคของการเป็นผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ รวมถึงมีศูนย์ R&D ที่จริงจังแบบเต็มระบบ (ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และแบตเตอรี่ จากแบรนด์ต่างๆ ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะผู้ลงทุนจากประเทศจีน) การเปลี่ยนผ่านจึงจะสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเริ่มต้นขึ้นแล้วอย่างจริงจังครับ         ●