FOMM One รถไฟฟ้าขนาดเล็กจากญี่ปุ่น พร้อมจำหน่ายในปี 2561 นี้
เรื่อง : AREA 54 • ภาพ : จันทนา เจริญทวี
● ในงาน บางกอก มอเตอร์โชว์ ประจำปี 2561 นี้ มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยแบบจริงจังมากขึ้น (แม้ว่าเราจะยังไม่เห็นการขยับตัวของสาธารณูปโภคอย่างสถานีชาร์จแบตเตอรี่กันสักเท่าไร) อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ยุคของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทยนั้น อาจมาถึงเร็วกว่าที่คิด เพียงแต่ในช่วงนี้ มันยังจำเป็นจะต้องเป็นรถที่มีราคาสูงไปก่อน เนื่องจากการแข่งขันทางด้านราคายังไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
● ในที่นี้เราไม่นับรถในกลุ่มพรีเมียมทั้งไฟฟ้าและ plug-in hybrid อย่าง บีเอ็มดับเบิลยู, เมอร์เซเดส, ปอร์เช่ หรือวอลโว่นะครับ รถจากผู้ผลิตเหล่านี้เป็นรถเฉพาะกลุ่มซึ่งไม่มีทางกดราคาจำหน่ายมาสู้กับรถบ้านทั่วไปอย่างแน่นอน ดังนั้นในกลุ่มรถบ้านแบบระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า การจะให้มันบูมจริงๆ คงจะต้องรอกันไปอีกพักใหญ่ๆ ครับ… แม้แต่ในยุโรปเอง กระแสการตื่นตัวของพลังงานทางเลือกอย่างจริงจังยังเพิ่งจะมีสถิติอย่างชัดเจน ในปีที่ผ่านมานี้เอง โดยยอดจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ หรือ plug-in hybrid เพิ่งทะลุ 50% หรือมากกว่ารถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลเป็นครั้งแรก หมายความว่าในยุโรปเองนั้น การขยายตัวของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็ไม่ง่ายนัก และต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยเช่นกัน
● สำหรับบ้านเรา หนึ่งในรถไฟฟ้าที่เปิดตัวในงานนี้ก็คือ FOMM One (ฟอมม์ วัน) รถไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ขนาดจิ๋วของบริษัท FOMM (Asia) Co., Ltd. (ชื่อบริษัทออกเสียงว่า เอฟโอเอ็มเอ็ม) ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการดำเนินงานทุกอย่างแทนบริษัทแม่ FOMM Corporation ประเทศญี่ปุ่น ตามข่าวฐานการผลิตอยู่ในบ้านเรานี่เอง โดยเอฟโอเอ็มเอ็มเลือกใช้พื้นที่ของ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเอฟโอเอ็มเอ็มจะทำการสร้างโรงงานผลิตขนาดเล็กในฐานะโรงงานต้นแบบของบริษัท ใช้ชื่อว่า “Micro-Fab”
● เอฟโอเอ็มเอ็มระบุว่า โรงงานแห่งนี้จะมีขนาดไม่ใหญ่นัก เนื่องจาก FOMM One นั้นมีชิ้นส่วนในการประกอบเพียง 1.6 พันชิ้นเท่านั้น ต่างจากรถเชื้อเพลิงทั่วไปที่จะต้องใช้ชิ้นส่วนเฉลี่ยแล้วราวๆ 3 หมื่นชิ้น ซึ่งนอกจากเอฟโอเอ็มเอ็มจะสามารถลดขนาดของสายการผลิตแล้ว ยังสามารถลดระยะเวลาในการผลิตต่อคันลงได้ด้วย
FOMM One เป็นรถที่อยู่ในคลาสอะไร?
● ก่อนอื่น เราต้องยอมรับว่า FOMM One นั้นเป็นรถที่มีขนาดเล็กมาก ซึ่งในการใช้งานจริงคงให้ความสะดวกสบายไม่ได้มากนัก… เดินทางไกลได้ไหม? ได้ครับ ถ้าในอนาคตมีสถานีชาร์จเป็นระยะๆ มากเพียงพอ… แล้วด้านความปลอดภัยล่ะ? จุดนี้ต้องบอกว่า FOMM One เป็นรถที่เหมาะกับการใช้งานในเมืองระยะสั้นๆ มากกว่า และคงจะไม่สามารถสู้กับรถซิตี้คาร์ หรืออีโคคาร์ที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบันได้อย่างแน่นอนในเรื่องของความปลอดภัย
● เอฟโอเอ็มเอ็มระบุในเอกสารว่า FOMM One เป็นรถในคลาส “L 7e” ตามมาตรฐานยุโรป รถประเภทนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างง่ายๆ ให้คุณผู้อ่านเห็นภาพว่า มันเป็นรถคลาสเดียวกับ Renault Twizy หรือ Toyota COMS ของโตโยต้าที่อยู่ในโครงการ Ridesharing CU TOYOTA Ha:mo นั่นเองครับ
● รถประเภทนี้ถูกเรียกว่า รถคลาส L 7e หรือ LSV: low-speed vehicle หรือ NEV: neighborhood electric vehicle หรือ Quadricycles ตามกฏหมายมันเป็นรถที่ใช้ความเร็วได้ไม่สูงนัก แม้จะเป็นยานพาหนะ 4 ล้อ แต่ไม่ได้มีความหมายว่า “Car” ตามกฏหมาย ในยุโรปนั้นรถประเภทนี้ใช้ความเร็วเฉลี่ยไม่เกิน 40 กม./ชม. วิ่งบนถนนหลวงบางเส้นได้ แต่ห้ามวิ่งบนไฮเวย์
● ทั้งนี้ คลาสย่อยของรถกลุ่มนี้ยังมีอีก 2 กลุ่ม นั่นคือ light quadricycle หลักๆ น้ำหนักตัวต้องไม่เกิน 350 กก. ใช้ความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 45 กม./ชม. ต่อด้วยรถที่มีคลาสใหญ่ขึ้นเล็กน้อย คือ heavy quadricycle น้ำหนักตัวต้องไม่เกิน 400 กก. ความเร็วสูงสุดไม่ระบุ แต่ต้นกำลัง (ตรงนี้จะเป็นเครื่องยนต์ฟอสซิล หรือมอเตอร์ไฟฟ้าก็ได้) ต้องมีพละกำลังไม่เกิน 15 กิโลวัตต์ หรือ 20 แรงม้า ซึ่งทั้ง Renault Twizy และ FOMM One นั้น จัดอยู่ในกลุ่มรถ heavy quadricycle นี่เอง
● ด้านความปลอดภัย Euro NCAP เคยสุ่มทดสอบชนแบบหน้าเต็ม full frontal crash รถในกลุ่ม Quadricycle นี้ 4 รุ่นในช่วงปี 2014 ผลออกมาเป็นอย่างไรคงจะเดากันได้นะครับ… ระดับความอันตรายอยู่ในระดับสูงทั้งสิ้น
● สำหรับสเปคพื้นฐานนั้น FOMM One มีน้ำหนักรวม 975 กก. (น้ำหนักตัวเปล่าๆ แบบไม่รวมแบตเตอรี่และออปชั่นชุดชาร์จ 445 กก. เอาจริงๆ ตามกฏหมายในยุโรปเกินมา 45 กก.) ความยาวตัวรถ 2,585 มม. สั้นกว่า Smart ForTwo เจนเนอเรชั่น 3 ราว 110 มม. ตัวถังเป็นแบบ 3 ประตู 4 ที่นั่ง ซึ่งด้านหลังเหมาะกับเด็กเล็กเท่านั้น ผู้ใหญ่คงจะไม่สะดวกสบายนัก วงเลี้ยวแคบสุด 3.8 เมตร เหมาะกับการใช้งานในที่แคบๆ หรือพื้นที่จอดรถไม่มากนักอย่างในเมืองใหญ่ หรือตรอกซอกซอย… อย่างที่เห็นครับ มันเหมาะสำหรับการใช้งานเฉพาะกิจที่ไม่จริงจังนัก แต่ก็ใช่ว่าจะเดินทางไกลไม่ได้ “หากจะใช้กันจริงๆ”
● พละกำลังของ FOMM One มาจากมอเตอร์ไฟฟ้าแบบติดตั้งควบรวมกับล้อ (In Wheel Motor) กำลังสูงสุด 10 กิโลวัทท์ หรือเทียบเท่า 13.4 แรงม้า (HP) แรงบิดสูงสุด 57 กก.-ม. เก็บประจุไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่แพคความจุ หรือความสามารถในการจ่ายไฟภายใน 1 ชม. เท่ากับ 2.96 กิโลวัทท์-ชม. (x 4 แพค) ระยะเวลาในการชาร์จราว 6 ชม. ชาร์จ 1 ครั้งวิ่งทำระยะทางได้ประมาณ 160 กม. ใช้ความเร็วสูงสุดได้ประมาณ 80 กม./ชม.
● ตรงนี้ เอฟโอเอ็มเอ็มมีแผนจะให้บริการ swap แบตเตอรี่ครับ ใช้ชื่อว่าบริการ Battery Cloud Membership ผู้ขับสามารถใช้บริการสลับแบตเตอรี่ได้ตามสถานที่ที่บริษัทกำหนดไว้ ทว่าผู้เขียนยังไม่เห็นรายละเอียดตรงนี้ อย่างไรก็ตาม เอฟโอเอ็มเอ็มระบุว่า ในการสลับแบตเตอรี่นั้นจะใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น หากในอนาคตมีสาขามากเพียงพอก็ไม่ต้องกังวลใจในการเดินทางไกล (ในระดับหนึ่ง) อยู่ที่ว่าสถานีสลับแบตฯ นี้จะมีกระจายอยู่มากน้อยขนาดไหน?
● ด้านราคาจำหน่าย เอฟโอเอ็มเอ็มเปิดราคา FOMM One ออกมาที่ 644,000 บาท ทว่า 2,000 คันแรกจะจำหน่ายในราคาพิเศษ 599,000 บาท เริ่มเปิดจองตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป… ราคานี้ค่อนข้างสูงทีเดียวครับ เมื่อเทียบกับอีโคคาร์ที่มีความปลอดภัย และความสะดวกสบายของผู้โดยสารมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ทว่าใครสนใจอยากได้ก็ไม่ผิดกติกาอะไร ขึ้นอยู่กับความพอใจเป็นหลัก ส่วนการใช้งานก็อย่าให้เกินกายภาพของรถ
● คงอีกพักใหญ่ๆ ครับ กว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าล้วนจะมีตัวเลือกและราคาที่เหมาะสมกับผู้คนทั่วไป… อย่างไรก็ดี ปีนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยุครถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยแล้วครับ ●
ความเคลื่อนไหวเพิ่มเติม:
– Grand Opening : FOMM ตั้งโรงงานผลิตในไทย พร้อมใช้เป็นฐานส่งออก.
– Test Drive : FOMM One ทางเลือกของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่.