October 2, 2018
Motortrivia Team (10199 articles)

ก่อนถึงบุรีรัมย์ : อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 ครั้งแรกในประเทศไทย (ตอน 5)

Posted by : Man from the Past

 

●   มาถึงของบรรดาผู้ผลิตจักรยานยนต์ในรายการ MotoGP ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับทุกรายการแข่งรถรางวัลกรังด์ปรีซ์ใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นรถชนิดใด MotoGP เองก็ให้ความสำคัญกับบริษัทผู้ผลิตรถที่ลงแข่งพอๆ กับนักบิดที่เป็นฮีโร่ของคนทุกเพศทุกวัย โดยทั้งรางวัล, เกียรติ และการจารึก จะแบ่งเป็นการจัดอันดับประเภทผู้ผลิต Constructors’ World Championship และนักขับ Riders’ World Championship เช่นกัน เหมือนๆ กับรายการอื่นๆ

●   ถ้าย้อนหลังไปในปี 2002 ที่มีการเปลี่ยนชื่อรุ่นสูงสุดจาก 500 ซีซี. ไปเป็น MotoGP ฮอนด้าคว้าตำแหน่งนี้ไปแล้วถึง 10 ครั้งเลยทีเดียว

●   คู่แข่งอย่างยามาฮ่าคว้าตำแหน่งไป 5 ครั้ง, ดูคาติ 1 ครั้ง ส่วนรุ่น 250 ซีซี. ที่ปัจจุบันคือรุ่น Moto2 บริษัทจักรยานยนต์ Aprilia จากอิตาลีเก็บตำแหน่งนี้ไปได้ 6 ครั้ง บริษัท Kalex จากเยอรมนีคว้าไปได้ 5 ครั้ง ส่วนฮอนด้าคว้าไป 2 ครั้ง และสุดท้ายรุ่น 250 ซีซี. ที่ปัจจุบันคือ Moto3 บริษัท Aprilia คว้าไปได้ 8 ครั้ง และเจียดให้กับบริษัท KTM จากออสเตรีย 5 ครั้ง ปิดท้ายด้วยฮอนด้า 2 ครั้ง… ที่เหลือ 1 ครั้งตกเป็นของ Derbi จากสเปน

●   ในการจัดอันดับ กติกาหลักๆ ก็คือการนับคะแนนการแข่งขันในแต่ละสนาม โดยแชมเปี้ยนประเภทผู้ผลิตประจำปีจะนับจากคะแนนการเข้าเส้นชัยอันดับ 1 ในการแข่งแต่สนามเท่านั้น ไม่นับจากอันดับรอง และไม่จำเป็นที่จักรยานยนต์ที่ผู้ขับจะต้องเป็นแชมเปี้ยนพ่วงด้วย เช่น ฮอนด้าที่คว้ารางวัลผู้ผลิตในปี 2004 ในขณะที่ Valentino Rossi คว้าแชมป์กับรถยามาฮ่า

●   นอกจากนั้น การให้รางวัลชนะเลิศแก่ผู้ผลิตประเภทจักรยานยนต์พ่วงข้างที่ลงแข่งในรุ่นพ่วงข้าง รางวัลจะเป็นของผู้ผลิตเครื่องยนต์ ไม่ใช่ผู้ผลิตแชสซีส์

●   ตั้งแต่ปี 2002 ฮอนด้าคว้ารางวัลแชมเปี้ยนประเภทผู้ผลิตจักรยานยนต์ที่ลงแข่งทุกรุ่นรวมกัน 14 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังในด้านการแข่งขันมากพอๆ กับการผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์

●   ปี 1982 ฮอนด้าได้เปิดบรรษัท Honda Racing Corportation หรือ HRC เพื่อให้เป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบการทำกิจกรรมด้านนี้โดยเฉพาะ รวมทั้งมีการควบรวมการลงแข่งขันทุกรายการย่อยเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เป็นฐานการพัฒนาจักรยานยนต์สำหรับแข่งที่คล่องแคล่วและทรงประสิทธิภาพที่สุด ก่อนที่จะถอดเทคโนโลยีบางส่วนไปพัฒนาต่อยอดสำหรับการผลิตจักรยานยนต์ทั่วไปสำหรับจำหน่าย

●   ในการส่งจักรยานยนต์ลงแข่ง ฮอนด้ายังส่งเสริมกีฬาประเภทนี้ด้วยการผลิตและจำหน่ายจักรยานยนต์แข่ง ให้การสนับสนุนทีมแข่งที่ใช้ผลิตภัณฑ์จักรยานยนต์ของตน และจัดการส่งเสริมความรู้เพื่อให้ความรู้แก่ที่ผู้สนใจด้วย

●   ในอดีตนั้น โซอิชิโร่ ฮอนด้า ผู้ก่อตั้งบริษัทมอเตอร์ไซค์แห่งนี้มีความหลงใหลในการแข่งมอเตอร์ไซค์ โดยตัวเขาเองก็นับเป็นนักแข่งคนหนึ่ง และสนใจในการแข่งขันอย่างจริงจังจนถึงขนาดที่เมื่อมีบริษัทเป็นหลักเป็นฐาน เขาก็สานฝันด้วยการส่งมอเตอร์ไซค์ที่เขาผลิตลงแข่งรายการระดับโลกทันที

●   ปี 1959 หรือหลังจากการก่อตั้งฮอนด้าเพียง 11 ปี รายการที่เขาส่งรถลงแข่งได้แก่ Isle of Man TT รวม 5 คัน แม้จะดูเหมือนว่าไม่ได้อะไรกลับมา แต่ความรู้ในด้านการบริหารเตรียมการเพื่อลงแข่ง การแข่งขันจริงในระดับโลก และการจัดการหลังการแข่งเสร็จสิ้นลง เหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลสำคัญในการนำไปปรับปรุงจนจักรยานยนต์แข่งของฮอนด้า สามารถคว้าชัยชนะในการแข่งรายการกรังด์ปรีซ์ได้เป็นครั้งแรกในอีก 2 ปีต่อมา ทั้งในรุ่น 125 และ 250 ซีซี.

●   ในยุคนั้น ผู้ที่เป็นนักบิดในนามฮอนด้าคือ Mike Hailwood ยอดนักขี่ชาวอังกฤษที่มีชื่อจารึกในประวัติศาสตร์การแข่งมอเตอร์ไซค์ชิงรางวัลใหญ่นั่นเอง โดยในช่วงปีทองเหล่านั้น มอเตอร์ไซค์แข่งของฮอนด้าเป็นที่รู้จักจากฝีมือการออกแบบที่มีรูปร่างเปรียว ทันสมัย บวกกับงานวิศวกรรมที่ทำให้เครื่องยนต์แปลกใหม่ และมีความล้ำอยู่ในที ยกตัวอย่างเช่นเครื่องยนต์ 5 สูบ ที่มีรอบจัดถึง 22,000 รอบต่อนาที สำหรับรุ่น 125 ซีซี. กับเครื่องยนต์ 6 สูบ สำหรับรุ่น 250 และ 297 ซีซี. เป็นต้น

●   ปี 1969 ฮอนด้า, ซูซูกิ และยามาฮ่า ถอนตัวออกจากรายการ MotoGP เพราะไม่พอใจกฏใหม่ของ FIM ที่จำกัดจำนวนเกียร์ที่มอเตอร์ไซค์แข่งทุกรุ่นสามารถติดตั้งเอาไว้ได้สูงสุดที่ 6 จังหวะ อีกทั้งยังมีการจำกัดจำนวนกระบอกสูบที่รถเกือบทุกรุ่นพึงมีไว้ที่ 2 กระบอกสูบ ยกเว้นรุ่น 350 และ 500 ซีซี. ที่อาจมีได้ถึง 4 กระบอกสูบ การประท้วงนี้ทำให้การแข่งมีเพียงทีม MV Agusta จากอิตาลีเป็นทีมแข่งทีมเดียวที่ลงแข่งในฐานะทีมโรงงาน (factory team)

●   อย่างไรก็ตาม ยามาฮ่าก็ได้หวนคืนสู่สนามอีกครั้งในปี 1973 ตามมาด้วยซูซูกิในปี 1974 ทั้ง 2 ผู้ผลิตต่างก็ยอมส่งมอเตอร์ไซค์แข่งรุ่นใหม่ที่มีใช้พละกำลังจากเครื่องยนต์ที่จุดระเบิด 2 จังหวะแบบใหม่ เพื่อรับกระแสเครื่องยนต์ในกลุ่มนี้ที่ถูกใช้แทนที่เครื่องยนต์ 4 จังหวะในทุกรุ่น

●   ส่วนฮอนด้านั้นกว่าจะกลับสู่การแข่งขัน ต้องรอไปจนถึงปี 1979 โดยมีความพยายามในการนำรถรุ่น NR500 ที่ใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะมาลงแข่งในรุ่นสูงสุด ทว่าแผนนั้นล้มเหลว อย่างไรก็ดี พอปี 1982 ฮอนด้าได้เปิดตัวจักรยานยนต์แข่งเครื่องยนต์ 2 จังหวะเป็นครั้งแรกในชื่อรุ่น NS500 ทำให้ปีต่อมาได้ประเดิมการคว้าชัยชนะในรุ่น 500 ซีซี. จากฝีมือของนักบิดอเมริกัน Freddie Spencer และนับแต่บัดนั้น ฮอนด้าก็ได้กลายเป็นบริษัทจักรยานยนต์ที่เด่นที่สุดในสังเวียนแข่งจักรยานยนต์ชิงรางวัลกรังด์ปรีซ์

●   ความเด่นของฮอนด้านั้นได้รับแรงสนับสนุนจากนักบิดในสังกัดอย่าง Mick Doohan หรือ Valentino Rossi ด้วย นอกจากนั้นฮอนด้ายังชนะเลิศการแข่งรุ่นต่างๆ ในรายการ Isle of Man TT รวมกันถึง 227 ครั้ง รวมทั้ง Ian Hutchinson นักบิดชาวอังกฤษที่คว้าชัยชนะในการลงแข่งทุกครั้งตลอดปี 2010

●   ทางด้านสถิติความเร็ว ฮอนด้าเป็นเจ้าของสถิติความเร็วสนาม Snaefell Mountain Course ที่เป็นสนามรายการ Isle of Man TT โดยในปี 2015 นักบิดชาวอังกฤษ John McGuinness ได้ทำความเร็วสูงสุดถึง 132.701 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 213.562 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนรถ Honda CBR 1000RR ก่อนที่จะถูกบีเอ็มดับเบิลยูทำลายในปีต่อมาด้วยความเร็ว 133.962 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 215.591 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยนักบิดไอร์แลนด์เหนือ Michael Dunlop กับ BMW S1000RR

●   ฝั่งยามาฮ่า บริษัทผู้ผลิตจักรยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่นแห่งนี้เคยคว้าตำแหน่งแชมเปี้ยนโลกผู้ผลิตในรุ่นสูงสุดของรายการ Moto GP รวม 5 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2002 จนถึงปีที่แล้ว นักขับชื่อดังในอดีตมีอาทิ Giacomo Agostini, Bob Hannah, Heikki Mikkola, Kenny Roberts, Eddie Lawson, Wayne Rainey, Jeremy McGrath, Stefan Merriman, Dave Molyneux, Ian Hutchinson, Phil Read, Chad Reed, Ben Spies และ Jorge Lorenzo

●   ยามาฮ่านั้นมีดีในรายการอื่นๆ หลายรายการ อาทิ การคว้าตำแหน่ง AMA Supercross Championship ของสมาคม American Motorcyclist Association ในปี 2008-2009 โดยยามาฮ่ายังเป็นรายแรกที่ผลิตมอเตอร์ไซค์แข่งในรายการนี้ที่มี monoshock หรือช๊อคฯ เดี่ยวออกมาจำหน่ายในปี 1975 ด้วยรุ่น 250 และ 400 ซีซี. ทั้งยังเป็นผู้ผลิตรายแรกที่ผลิตมอเตอร์ไซค์ที่มีเครื่องยนต์ระบายความร้อนด้วยน้ำออกมาจำหน่ายด้วย โดยในปี 1977 เป็นประเภท works หรือใช้งานเฉพาะ และปี 1981 เป็นประเภท off-the-shelf หรือหาซื้อได้ทั่วไป

●   ความเป็นเลิศของยามาฮ่าด้านการแข่งมอเตอร์ไซค์สมบุกสมบันยังไม่หยุดเท่านี้ ในปี 1998 มีการแข่งขันประเภทที่ใช้เครื่องยนต์จุดระเบิด 4 จังหวะที่จัดเป็นครั้งแรก YZ400F ของยามาฮ่าได้พิชิตตำแหน่ง USA outdoor national Championship หรือชนะเลิศการแข่งกลางแจ้งแห่งสหรัฐฯ โดย Doug Henry นักบิดชาวอเมริกัน

●   หากย้อนไปในปี 1962 ยามาฮ่าได้เริ่มนำมอเตอร์ไซค์แข่งรายการกรังด์ปรีซ์ออกมาขายให้กับบรรดานักแข่งมอเตอร์ไซค์ที่มีใบอนุญาติ และเมื่อถึงปี 1970 ทีมแข่งบุคคลทั่วไปที่เรียกว่า privateer team ที่ใช้มอเตอร์ไซค์ยามาฮ่า ต่างก็ครองความเป็นเจ้าสนามการแข่งรุ่น 250 ซีซี. กันถ้วนหน้า โดยในปีนั้นยังชนะเลิศประจำปีกับ Yamaha TD2 ที่ปัจจุบันกลายเป็นตำนานไปแล้ว ส่วนนักบิดก็คือ Rodney Gould ชาวอังกฤษ

●   ส่วนนักขี่ในปัจจุบันก็คือดาวค้างฟ้าอย่าง Valentino Rossi และ Maverick Vinales นักบิดชาวสเปน   ●


อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 บุรีรัมย์

•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 01.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 02.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 03.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 04.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 05.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 06.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 07.