October 3, 2018
Motortrivia Team (10203 articles)

ก่อนถึงบุรีรัมย์ : อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 ครั้งแรกในประเทศไทย (ตอน 7)

Posted by : Man from the Past

 

●   ถึงเวลาต้องเขียนถึงการแข่งจักรยานยนต์รายการยักษ์ของบุรีรัมย์ ก่อนที่จะไปเก็บตกทีมแข่งและนักบิดที่เหลือกัน การแข่งขัน MotoGP ที่บุรีรัมย์ในครั้งนี้ ใช้ชื่อรายการอย่างเป็นทางการบนปฏิทินการแข่งขันว่า PTT Thailand Grand Prix 2018 ตามชื่อของสปอนเซอร์หลักผู้ให้การสนับสนุน ซึ่งมีรายงานว่า ปตท. ได้ออกเงินสนับสนุนถึง 80 ล้านบาท เพื่อให้การกีฬาแห่งประเทศไทยบรรลุข้อตกลงกับบริษัท ดอร์น่า สปอร์ต

●   ดอร์น่า สปอร์ต ได้อนุมัติให้บุรีรัมย์เป็นเจ้าภาพการแข่งขัดนัดที่ 15 ประจำฤดูกาลเป็นเวลา 3 ปี โดยทุกปีจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เป็นเงินราว 400 ล้านบาท ผลประโยชน์ที่ตามมาคือ การได้เป็นพื้นที่จัดการทดสอบช่วงฤดูหนาวของบรรดาทีมแข่งและนักแข่ง ซึ่งก็เป็นอีกอีเวนท์ที่แฟนกีฬาบิดมอเตอร์ไซค์นิยมติดตาม

●   ปัจจุบัน ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต เป็นเพียงชื่อที่เรียกกันทั่วไปตามชื่อของผู้อุปถัมถ์ค้ำจุนการก่อสร้าง แต่หากมีการนำไปใช้กับเอกสารทางการ ชื่อของสนามก็คือ บุรีรัมย์ อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต เนื่องจากประเทศฝรั่งเศสและรัฐกาตาร์มีกฏหมายควบคุมการนำชื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอลไปใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์

●   ด้านการอำนวยความสะดวก กระทรวงคมนาคมได้ประกาศเพิ่มเที่ยวบินไป/กลับ ทั้งช่วงก่อนและหลังการแข่งขัน เพื่อรองรับผู้ที่จะไปชมการแข่งขันในสนามนี้ โดยระหว่างวันที่ 2 – 9 ตุลาคม 2561 จะมีทั้งหมด 34 เที่ยวบิน ซึ่งโดยปกติท่าอากาศยานบุรีรัมย์จะมีสายการบิน 2 สาย ได้แก่ นกแอร์ที่บินวันละ 3 เที่ยวด้วยเครื่องบินบอมบาเดีย แดช 8 คิว 400 ความจุ 86 ที่นั่ง กับโบอิ้ง 737 – 800 ความจุ 189 ที่นั่ง และสายการบินไทยแอร์เอเชียที่บินวันละ 2 เที่ยว ด้วยเครื่องบินแอร์บัส เอ 320 ความจุ 180 ที่นั่ง

●   ทว่าในช่วงนั้นทั้งสองสายการบินจะเพิ่มเที่ยวบินอีกวันละ 1 เที่ยว เป็นวันละ 3 และ 4 เที่ยวตามลำดับ และยังเพิ่มจากเที่ยวบินเช่าเหมาของสายการบินไทยสไมล์ 6 เที่ยว สายการบินบางกอกแอร์เวย์ 2 เที่ยว และสายการบินเอ็มเจ็ต 1 เที่ยว รวมแล้วในช่วงเวลานั้นท่าอากาศยานบุรีรัมย์จะมีเครื่องบินๆ ขึ้นลงรวม 34 เที่ยว ทั้งไปและกลับ และกระทรวงคมนาคมยังมีการจัดบริการรถรับ/ส่งบนเส้นทางสำคัญในเมืองและนอกเมืองรวม 7 เส้นทางโดยไม่คิดค่าโดยสาร

●   ยังมีผลงานกระทรวงคมนาคมที่เป็นการก่อสร้างลานจอดเครื่องบินเพิ่มเติม ทำให้สามารถจอดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ได้ 6 ลำ จากเดิมจอดได้ 2 ลำ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสาร สำหรับการตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร ด้วยการจัดบุคลากรและจัดเครื่องไม้เครื่องมืออำนวยความสะดวกและความปลอดภัย ตลอดจนจัดพื้นที่ภายในบุรีรัมย์เพื่อให้เป็นทื่จอดรถทั้งประเภททั่วไปและรับจ้าง รวมทั้งจัดจุดจอดรับผู้โดยสารสำหรับรถให้บริการรับ/ส่ง และยังมีการปรับปรุงขยายทางหลวงเชื่อมต่อบุรีรัมย์ กับการติดตั้งป้ายจราจรเพื่อให้การสัญจรมีความสะดวกและปลอดภัย

●   ที่ต้องชมเป็นพิเศษก็คือ การเตรียมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศที่มีการซ้อมเป็นเรื่องราวระหว่างผู้จัดการแข่งขันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง… แน่นอนว่าการแข่งครั้งนี้เป็นงานระดับโลก ดังนั้นจึงเสี่ยงต่อการเผชิญภัยระดับโลกเช่นกัน… รวมแล้วมีการคาดกันว่างานนี้จะดึงดูดผู้คนให้เข้าไปชมมากถึง 200,000 คน

●   ด้านการต้อนรับ เรื่องกิน เรื่องเที่ยว เรื่องความบันเทิงคงไม่ต้องห่วง งานนี้มีคอนเสิร์ตของบอดี้สแลม และบีเอ็นเค 48 ไว้รอต้อนรับ รวมทั้งยังมีถนนเซาะกราวที่กำลังจะกลายเป็นถนนคนเดินระดับโลกให้เดินเล่นกันด้วย… นอกจากนี้ ใครไม่มีที่นอนก็ไม่ต้องวิตก เพราะมีการเตรียมจัดพื้นที่กางเต๊นท์ไว้ให้แล้ว เพื่อรองรับบรรดานักขี่บิ๊กไบค์ที่นิยมนอนค้างคืนในเต๊นท์เวลาเดินทางไกล

●   สำหรับตัวสนามช้าง หรือสนามบุรีรัมย์ อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ผู้ออกแบบคือ แฮร์มัน ทิลเก้ นักออกแบบชาวเยอรมันวัย 63 ปีที่มีผลงานออกแบบสนามแข่งยานยนต์มาแล้ว 29 แห่งนับตั้งแต่ปี 1995 รวมทั้งสนามแข่งฟอร์มูล่า วัน หลายๆ สนามที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งการออกแบบสนามในระดับนี้ ผู้ออกแบบจะต้องได้รับการรับรองจากสมาพันธ์ FIA ที่ดูแลการแข่งรถสูตรหนึ่ง และที่ผ่านมาสมาพันธ์ได้ให้การรับรองนี้แก่นักออกแบบเพียง 4 คน

●   ทิลเก้เข้าเรียนที่ FH Aachen มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งนครอาเคิน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเยอรมันเยี่ยมยอดแห่งหนึ่ง ปี 1984 หลังสำเร็จวิศวกรรมโยธาด้านการจัดการการขนส่งและการจราจร ทิลเก้ได้เปิดสำนักวิศวกรรมของเขาเองชื่อ Tilke Engineering โดยเป็นสำนักที่เน้นการผนวกความเชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรมโยธา และวิศวกรรมไฟฟ้า เข้ากับการออกแบบโครงการสนามแข่งยานยนต์และโครงการกำจัดขยะ

●   สำหรับสนามช้าง ทิลเก้ ออกแบบเป็นแห่งที่ 27 และเปิดใช้งานครั้งแรกในปี 2014 พื้นที่สนามจุคนดูได้ 100,000 คน มีแทร๊ควิ่งยาว 4.5 กิโลเมตร หรือ 2.8 ไมล์ และโค้ง 12 โค้ง สถิติเวลาต่อรอบที่ดีที่สุดของสนามคือ 1.25.441 นาที โดย Daiki Sasaki จากทีม Kondo Racing ได้ทำไว้ในปี 2014 ระหว่างการแข่งขันรายการซูเปอร์ จีที

●   แทร็คของสนามช้างเป็นแบบลาดยางมะตอยหรือแอสฟัลต์ ผลงานของ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างผิวทางวิ่งสนาม มีการใช้หิน 5 ประเภท รวมน้ำหนัก 80,000 ตัน กับยางมะตอยหนัก 4,700 ตัน โดยการควบคุมระดับความเรียบของผิวทางวิ่ง มีการนำอุปกรณ์ทันสมัยมาใช้ในทุกระยะ 4 เมตรขณะผิวทางวิ่งยังร้อน จากนั้นจึงมีการใช้รถบดทับจนได้ความแน่นและความเรียบตามที่ต้องการ

●   บุรีรัมย์ โมเดล ควรจะเป็นต้นแบบให้ท้องถิ่นไทยดำเนินงานตาม เพราะไม่ว่าท้องถิ่นไหน มองไปมักก็เห็นชีวิตคนไทยกันเองที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เราควรเลิกหวังได้แล้วหรือยังกับการให้รัฐเป็นผู้ดูแลและจัดการการพัฒนา?… เพราะเราทำมาแล้วไม่รู้กี่ศตวรรษ แต่ความสำเร็จยังไม่เกิดผลให้เห็น ซึ่งงานนี้คงต้องให้เครดิต นายเนวิน ชิดชอบ สำหรับความโดดเด่นในการพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะการเลือกให้กีฬาเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ความเจริญแทนการเลือกการค้าและอุตสาหกรรม   ●


อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 บุรีรัมย์

•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 01.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 02.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 03.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 04.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 05.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 06.
•   อุ่นเครื่อง MotoGP 2018 : ตอนที่ 07.