August 8, 2019
Motortrivia Team (10185 articles)

6 ครั้งที่ทีมแข่ง Formula 1 ฟื้นฟอร์มจากสภาพย่ำแย่สุดกู่

Posted by : FascinatorFJ

●   แม็คลาเรน และ วิลเลียมส์ ต่างเคยเป็นทีมแข่งชั้นนำดีกรีแชมป์โลก แต่ปัจจุบันพวกเขาฟอร์มตกลงมาจนลงไปถึงระดับท้ายแถวเสียด้วยซ้ำ ตั้งแต่แม็คลาเรนตัดสินใจใช้เครื่องยนต์ฮอนด้าครั้งล่าสุด นั่นกลายมาเป็น 3 ปีแห่งหายนะของพวกเขา ส่วนวิลเลียมส์นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา พวกเขาก็หลุดจากการเป็นทีมที่เก็บแต้มได้อย่างต่อเนื่อง และหล่นไปอยู่ท้ายตารางเป็นที่เรียบร้อย

●   แต่ถึงสถานการณ์จะย่ำแย่เพียงใด นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะกลับมาไม่ได้ เพราะในอดีตเราเคยมีทีมแข่งชั้นนำที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันนี้และกลับมาได้ รวมถึงทั้งแม็คลาเรนและวิลเลียมส์เองก็เคยทำได้มาแล้ว และนี่คือ 6 ครั้ง ที่ทีมแข่งในอดีตฟื้นฟอร์มจากสภาพย่ำแย่สุดกู่

โลตัส 1983

●   ตามประวัติศาสตร์ของทีม โลตัสมักจะสร้างรถที่ไม่ยอดเยี่ยมก็ออกทะเลไปเลย นี่จึงเป็นที่มาของช่วงเวลาที่พวกเขามีรถที่ดี หรือต้องกู้คืนฟอร์มกลับมาจากรถที่ไม่ดี

●   หลังจากได้แชมป์โลกทั้งประเภทนักขับและผู้ผลิตในปี 1978 ด้วยความช่วยเหลือจากการคิดค้นกราวน์เอฟเฟ็คต์ ทีมแข่งเริ่มลำบากขึ้นหลังจากนั้นเมื่อทีมอื่นๆ ต่างใช้คอนเซ็ปเดียวกับโลตัสมาพัฒนาให้ดียิ่งกว่า ทางโลตัสเองก็ไม่ได้นิ่งเฉย แต่พวกเขากลับยังคงสร้างรถที่ไม่แปลกประหลาดหลุดโลกจนฟอร์มบู่ก็เขียมจนวิ่งไม่ออก นอกจากนั้นการมาของเทอร์โบซึ่งไม่ได้อยู่ในท้ายรถของพวกเขา มันให้ผลดีทางด้านประสิทธิภาพเครื่องยนต์จนก้าวข้ามขีดจำกัดทางอากาศพลศาสตร์เกี่ยวกับ ดาวน์ฟอร์ซ ที่พวกเขาคิดค้น อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับทีมอื่นๆ ที่ยังคงใช้เครื่องยนต์ NA โลตัสก็ยังคงตามหลังรถคันอื่นอยู่พอสมควร

●   แต่เมื่อมาถึงปี 1983 พวกเขาฟื้นฟอร์มกลับมาได้สำเร็จเมื่อได้เครื่องยนต์เทอร์โบของเรโนลต์มาติดตั้งไว้ท้ายรถ และจากการผลักดันโลตัส 94T ออกมา พวกเขาก็เริ่มกลับอยู่แถวหน้าทันที ที่แอฟริกาใต้ อีลิโอ เดอ แองเจลิส คว้าโพลให้กับทีมเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี และ ไนเจล แมนเซล พารถโลตัสผ่านเส้นชัยในตำแหน่งโพเดียม รวมถึงทำเวลาต่อรอบเร็วที่สุดอีกด้วย

●   ในปี 1984 ผลงานที่แข็งแกร่งและการได้ขึ้นโพเดียมอย่างสม่ำเสมอทำให้โลตัสคว้าอันดับ 3 ประเภททีมไปได้สำเร็จ ในปีถัดมาเมื่อ ไอร์ตัน เซนน่า เข้ามาร่วมทีม พวกเขาก็สามารถต่อกรถึงขั้นมีลุ้นแชมป์โลกได้เลยเสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามเมื่อเซนน่าอำลาจากไปอยู่กับแม็คลาเรน ดูเหมือนเขาจะนำเอาความสำเร็จของทีมออกไปด้วย โลตัสกลับเข้าสู่ช่วงเวลาอันย่ำแย่อีกครั้ง แต่ครั้งนี้พวกเขาไม่สามารถกลับมาได้อีกเลย

ลิจิเยร์ 1992

●   ในช่วงปลายยุค 70 ถึงต้นยุค 80 ลิจิเยร์นั้นเป็นทีมแข่งที่สามารถเก็บแต้มได้อย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะยังไม่ถึงขั้นขึ้นมาลุ้นแชมป์โลกได้ ทีมแข่งมีผลงานตกลงไปเล็กน้อยในช่วงยุคเทอร์โบ แต่ก็ยังคงเป็นทีมชั้นกลางที่แข็งแกร่ง และยังเก็บโพเดียมได้เป็นบางครั้ง

●   สถานการณ์เริ่มย่ำแย่ลงจนตกต่ำถึงขีดสุด ในปี 1987 พวกเขาเก็บแต้มได้เพียงแต้มเดียว ในปีถัดมาพวกเขาเก็บแต้มไม่ได้เลย ในปี 1989 พวกเขาได้แต้มเพิ่มขึ้นมาเป็น 3 แต้ม แต่ก็เก็บแต้มไม่ได้อีกครั้งใน 2 ปีถัดไป

●   มันดูเหมือนว่าลิจิเยร์จะมาถึงจุดที่ทีมท้ายแถวแต่ละทีมต้องพบเจอ นั่นก็คือการพับทีมเก็บของกลับบ้าน แต่แล้วในปี 1992 เมื่อพวกเขาได้เครื่องยนต์เรโนลต์ V10 มาไว้ในมือ ซึ่งมันเป็นเครื่องยนต์ที่ดีที่สุดในตอนนั้น ถึงแม้ว่าชาสซีส์ของพวกเขาจะยังไม่ดีพอ แต่เครื่องยนต์ที่ดีก็ช่วยให้พวกเขากลับมาเก็บแต้มได้อย่างสม่ำเสมออีกครั้ง โดยพวกเขาเก็บแต้มได้ 6 แต้ม และจบฤดูกาลในอันดับ 8 ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุดนับจากปี 1986

●   จริงๆ แล้วพวกเขาอาจจะได้อันดับที่ดีกว่านั้นในปี 1992 อแลง พรอสต์ ซึ่งถูกปลดออกจากเฟอร์รารี ได้มาทดสอบรถลิจิเยร์ โดยเป็นการทดสอบเพื่อที่จะลงแข่งขันในปีนั้น ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วพรอสต์จะตัดสินใจไม่เข้าร่วมทีม แต่มีรายงานออกมาว่าพรอสต์นั้นทำเวลาทดสอบเร็วกว่า เทียร์รี บุตเซน นักขับตัวจริงของทีมในปีนั้น ถึงรอบละ 2 วินาที และนั่นจะผลักดันให้ลิจิเยร์ขึ้นสู่ตำแหน่งโพเดียมหากพรอสต์ได้มาขับ

●   หลังจากนั้นอีก 4 ปี ทางทีมก็ยังคงเก็บแต้มได้อย่างต่อเนื่อง ขึ้นโพเดียมได้ และเคยชนะด้วยครั้งหนึ่ง ก่อนที่ทีมจะถูกซื้อกิจการไป ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน อแลง พรอสต์ นั่นเอง

แม็คลาเรน 1997

●   หลังจากที่พวกเขาเสียทั้งเครื่องยนต์ฮอนด้าและ ไอร์ตัน เซนน่า แม็คลาเรนก็ได้เข้าสู่ยุคแห่งความมืดมนช่วงกลาง 90 จากทีมที่เคยชนะชนิดห่างแทบจะ 1-2 รอบ ทุกสนาม กลับกลายเป็นทีมที่แทบจะเก็บแต้มหรือหาเส้นชัยไม่เจอ

●   ในปี 1994 นั้น ตัวรถดูโอเคขึ้นกว่าปี 1993 แต่เครื่องยนต์เปอร์โยต์ V10 นั้นไร้ซึ่งความเสถียรใดๆ พวกเขาเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์เมอร์เซเดสในปี 1995 แต่คราวนี้รถของพวกเขาแย่ทั้งการควบคุมและความเสถียร รถของพวกเขาดีขึ้นในปี 1996 อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของตัวรถนั้นยังคงตามหลังวิลเลียมส์, เบเนตอง และ เฟอร์รารี (ที่อยู่ในมือของ มิคาเอล ชูมัคเกอร์)

●   ในปี 1997 หลายสิ่งเริ่มกลับเข้าที่เข้าทาง มันเป็นการเริ่มต้นของยุคลวดลาย “เวสต์” แทนที่ลายคลาสสิคเก่าอย่าง “มาร์ลโบโร” เดวิล คูลธาร์ด พาทีมชนะครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่สนามเปิดฤดูกาลที่ออสเตรเลีย ยิ่งในช่วงครึ่งหลังพวกเขาดึงตัว เอเดรียน นิวอี้ มาร่วมทีมได้ นั่นทำให้ทีมมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก

●   ในช่วงท้ายฤดูกาล 1997 MP4/12 น่าจะเป็นรถที่เร็วที่สุดบนแทร็ค จุดอ่อนเดียวของตัวรถนั้นมาจากเครื่องยนต์เมอร์เซเดส ซึ่งถึงแม้ว่าจะให้พละกำลังมหาศาล แต่มักจะพังในระหว่างการแข่งขัน มิก้า ฮัคคิเนน นั้นต้องออกจากการแข่งขันในขณะที่นำอยู่ถึง 3 ครั้ง

●   ผ่านพ้นมายังปี 1998 ด้วยกฎใหม่และการได้ เอเดรียน นิวอี้ เข้ามาออกแบบรถเต็มรูปแบบ แม็คลาเรนก็คว้าแชมป์โลกได้ทั้งประเภทนักขับและผู้ผลิต จบยุค 90 ด้วยการกลับไปยังจุดที่ตัวเองเคยเป็นเมื่อต้นยุค

เฟอร์รารี 1997

●   ไม่พูดถึงคงไม่ได้สำหรับทีมแข่งที่มีการคัมแบ็คแบบตำนาน เฟอร์รารีนั้นฟอร์มตกมากว่า 2 ศตวรรษ ซึ่งไม่สามารถคว้าแชมป์โลกทั้งประเภทนักขับและผู้ผลิตได้เลย ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นทีมที่อยู่มายาวนานที่สุดและร่ำรวยที่สุด

●   หลังจากสิ้นยุค อแลง พรอสต์ ทั้ง ฌอง อเลซี และ แกร์ฮาร์ด แบร์เกอร์ ต่างพยายามอย่างหนักที่จะชนะหรือแม้กระทั่งแตะต้องโพเดียมให้ได้ ทุกอย่างดูยากลำบากไปหมดจนกระทั่ง มิคาเอล ชูมัคเกอร์ เข้าร่วมทีมในปี 1996 อะไรๆ ก็เริ่มปรับปรุงดีขึ้นเป็นลำดับ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะชนะในปีนั้น 3 ครั้ง แต่นั่นมาจากนักขับล้วนๆ ด้วยการซิ่งฝ่าสายฝนของชูมัคเกอร์ ส่วนตัวรถนั้นแม้แต่นักออกแบบของทีมเองยังยอมรับว่ามันห่วยมาก

●   ในปี 1997 เฟอร์รารีได้ตัว รอส บรอว์น มาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค และ รอรี เบิร์น มาอยู่ในฐานะหัวหน้าฝ่ายออกแบบ สถานการณ์ของทีมก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้ว่าตัวรถของพวกเขาจะยังคงเป็นรองวิลเลียมส์อยู่ แต่ด้วยส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างรถแข่ง นักขับ และการวางกลยุทธ์ เฟอร์รารีนั้นสามารถต่อกรกับวิลเลียมส์ได้ถึงขั้นเบียดแย่งลุ้นแชมป์โลกเสียด้วยซ้ำ จนกระทั่งถึงปี 1999 ในที่สุดพวกเขาก็คว้าแชมป์ประเภททีมสำเร็จและครองความยิ่งใหญ่ในปี 5 ปี ต่อมา

บรอว์น จีพี 2009

●   ในช่วงเวลาอันสั้นของทีม BAR นั้นเป็นทีมท้ายแถวที่ค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมาจนถึงระดับรองแชมป์โลกในปี 2004 จากการเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นของฮอนด้า และในปี 2006 ฮอนด้าก็ได้เข้ามาซื้อกิจการทีมอย่างเต็มตัว ซึ่งปีแรกของฮอนด้านั้นยอดเยี่ยมทีเดียว เจนสัน บัตตัน สามารถคว้าชัยชนะครั้งแรกของตัวเองได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม 2 ปีหลังจากนั้น พวกเขาตกอยู่ในฝันร้ายที่ยากจะลืมเลือน

●   ตัวรถนั้นมีประสิทธิภาพที่ย่ำแย่ในปี 2007 และสืบต่อมายังปี 2008 รอส บรอว์น ซึ่งพึ่งขึ้นมาเป็นทีมบอสได้ประกาศยกเลิกการพัฒนาตัวแข่ง 2008 ตั้งแต่ยังไม่พ้นกลางปี เพื่อไปโฟกัสกับตัวแข่ง 2009 ที่จะมาพร้อมกับกฎใหม่ มันมีโอกาสเป็นไปได้ที่ฮอนด้าจะกลับมาอยู่แถวหน้าอีกครั้ง หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ฮอนด้าจึงได้ตัดสินใจถอนตัวออกจากวงการ ทิ้งให้พนักงานถูกลอยแพเท้งเต้งอยู่อย่างไร้ความหวัง

●   ตัวรถถูกออกแบบเรียบร้อย พวกเขามีนักแข่งและทีมงานพร้อม แต่ขาดคนที่จะรันทีมต่อไป โชคยังดีที่เหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึงเดือน รอส บรอว์น ก็ได้บรรลุข้อตกลงซื้อทีมมาจากฮอนด้า เปลี่ยนชื่อมันเป็น บรอว์น จีพี และเริ่มต้นตำนานบทใหม่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบทหนึ่งของฟอร์มูล่าวัน

●   รถแข่งของบรอว์นนั้นได้แสดงความเร็วที่ดีตั้งแต่การทดสอบ แต่ทุกคนไม่แน่ใจว่านั่นเป็นเพราะความพยายามที่จะดึงความสนใจของสปอนเซอร์หรือไม่ แต่เมื่อมาถึงสนามแรกของฤดูกาล ทีมแข่งก็จัดการเปิดเผยความจริงด้วยการคว้าโพลและชนะแบบ 1-2 ตัวรถนั้นเร็วมากๆ ซึ่งต้องขอบคุณดิฟฟิวเซอร์ 2 ชั้น ที่เป็นประเด็น บรอว์น จีพี, โตโยต้า และ วิลเลียมส์ นั้นเป็น 3 ทีม ที่หาเจอช่องโหว่ในกฎ แต่บรอว์นนั้นสามารถดึงประสิทธิภาพออกมาได้สูงสุด เจนสัน บัตตัน คว้าชัยชนะไป 6 จาก 7 สนามแรก นำพาทีมไปสู่แชมป์โลกครั้งแรกและครั้งเดียวของตัวเอง และแชมป์โลกประเภททีม หลังจากนั้นเมอร์เซเดสได้เข้ามาซื้อกิจการของบรอว์นต่อ และคุณก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น

วิลเลียมส์ 2014

●   เมื่อทีมแข่งจากฐานกรูฟสิ้นสุดความสัมพันธ์กับ BMW หลังจบปี 2005 ฟอร์มของพวกเขาก็ทิ้งดิ่งลงสู่ด้านล่างของตาราง พวกเขายังคงเก็บโพเดียมได้บ้าง และได้ชัยชนะมา 1 ครั้ง แบบน่าแปลกใจจาก ปาสเตอร์ มัลโดนาโด้ แต่โดยทั่วไปแล้วฟอร์มของพวกเขาก็ไม่ได้ดูดีเท่ากับช่วงเวลาที่ดีของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี 2013 ที่พวกเขาหล่นไปอยู่เกือบท้ายตาราง

●   เมื่อเข้าสู่ยุคไฮบริดในปี 2014 วิลเลียมส์ได้ตัดสินใจเปลี่ยนจากเครื่องยนต์เรโนลต์ไปใช้เมอร์เซเดส และนั่นนับว่าเป็นการตัดสินใจที่ชี้ขาดผลงานของทีมเลยทีเดียว พวกเขากลับมาเก็บแต้มได้อย่างต่อเนื่องและขึ้นโพเดียมได้บ่อยครั้ง เฟลิเป้ มาสซ่า คว้าโพลแรกของทีมในรอบหลายปีที่ออสเตรีย และสนามสุดท้ายที่อะบูดาบี รถวิลเลียมส์ทั้ง 2 คัน ได้ขึ้นโพเดียมพร้อมกัน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทีมทำได้ในรอบ 9 ปี เลยทีเดียว

●   นอกจากนั้นชาสซีส์ FW36 ยังไม่ได้ย่ำแย่แต่อย่างใด มันทำงานได้ดีมากโดยเฉพาะกับสนามที่ต้องใช้ความเร็วสูง ด้วยการผสมผสานระหว่างเครื่องยนต์และชาสซีส์ที่ดี วิลเลียมส์คว้าอันดับ 3 ประเภททีมมาได้ทั้งปี 2014 และ 2015 แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็เริ่มถอยหลังไปยังท้ายๆ และจมอยู่ที่ท้ายตารางอย่างที่ทุกคนเห็นในปัจจุบัน

ที่มา :
•  wtf1.com.


แนะนำ : เรื่องราวที่น่าสนใจในแวดวง F1

●   6 ครั้งที่ทีมแข่ง Formula 1 ฟื้นฟอร์มจากสภาพย่ำแย่สุดกู่.
●   Max Verstappen กำลังมุ่งหน้าไปสู่สถิติที่ไม่น่าพิสมัย.
●   10 ความเห็นสุดเผ็ดเกี่ยวกับ F1 ของ Jacques Villeneuve.
●   7 ไอเดียบ้าๆ ที่ Bernie Ecclestone เคยเสนอเพื่อปรับปรุง F1.
●   ตามหาสิ่งที่แตกต่างระหว่างนักขับ Formula 1 โดยเบรมโบ้.
●   ปากต่อปาก เรื่องของ Kimi Räikkönen กับการขับ F1 ครั้งแรก.
●   ใครเป็นรายต่อไป? อดีตลูกหลานนักแข่ง F1 ที่จะเจริญรอยตามพ่อ.
●   11 สถิติใน Formula 1 ที่สุ่มเสี่ยงจะถูกทำลายในปี 2019.
●   ทีมเมท/คู่แข่ง F1 ฤดูกาล 2019 ใครจะก้าวออกมาเหนือกว่า?.
●   ทุกๆ สิ่งที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับการทดสอบรถ Formula 1.
●   4 ความท้าทายที่รอ Robert Kubica ใน F1 ฤดูกาล 2019.
●   Formula 1 กับการย้ายทีมช็อคโลก! อันเป็นที่โจษจัน.
●   9 ข้อเท็จจริงและสถิติอันน่าประหลาดใน Formula 1 ปี 2018.
●   สัปดาห์ Senna และ 10 โมเมนต์ที่ไม่อาจลืมของ Ayrton Senna.
●   สัมภาษณ์พิเศษ Ron Dennis… 20 ปีการจากไปของ Senna.